'ศรีสุวรรณ' จี้รัฐฯ เพิกถอนใบอนุญาต บ.น้ำมันรั่ว อ่าวมาบตาพุด ชี้ต้องเรียกร้องค่าเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม เตรียมตั้งโต๊ะรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน

 

วันที่ 27 ม.ค. 2565 นายศรีสุวรรณ จรรยา ในฐานะนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์กรณีที่เกิดเหตุน้ำมันดิบใต้ทะเลบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเลของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) รั่วไหลบริเวณทะเลอ่าวมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยองกว่า 4 แสนลิตร (ต่อมากรมควบคุมมลพิษคำนวณว่ามี 128 ตันหรือ 1.6 แสนลิตร แต่มีข้อพิรุธ คือ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยองกลับอ้างว่ามีเพียง 24,000 ลิตร) โดยบริษัทดังกล่าวได้ออกแถลงการณ์ยอมรับว่า เหตุเกิดเมื่อเวลา 21.06 น. ของวันที่ 25 ม.ค. 2565 พบน้ำมันดิบรั่วไหล บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) ของบริษัทจริง ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง

นายศรีสุวรรณ ระบุอีกว่า เหตุที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นโศกนาฏกรรมทางทะเลซ้ำในพื้นที่ทะเลระยองอีกครั้ง หลังจากที่เคยเกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเลระยองไปกว่า 50,000 ลิตรในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้วเมื่อปี 2556 ซึ่งครั้งนั้นได้สร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อาชีพชาวประมงพื้นบ้าน รวมทั้งทำลายสถานที่ท่องเที่ยวโดยเฉพาะหาดเสม็ด หาดแม่รำพึง จนกระทบพ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไปทั้งระบบ จนประเมินค่าความเสียหายไม่ได้ แต่ปัญหาน้ำมันรั่วไหลในทะเลระยองกลับมาเกิดซ้ำอีก ชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องของผู้ประกอบการที่อาจหละหลวมต่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดและมาตรการที่ระบุไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมทั้งหน่วยงานอนุญาตและกำกับดูแลทั้งหลาย อาจละเลยหรือไม่เคร่งครัดในการตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยและด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในมาตรการ ไล่มาตั้งแต่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกระทรวงอุตสาหกรรม หากจะหาผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าว ยังมีอีกมากมาย

นอกจากนี้ นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะต้องเลิกปฏิบัติในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาในลักษณะนี้ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล จะต้องใช้ความเด็ดขาดหรือ "ใช้ยาแรง" โดย กนอ.และกระทรวงอุตสาหกรรม จะต้อง "เพิกถอนใบอนุญาต" ผู้ประกอบการดังกล่าวทันที และขึ้นแบล็กลิสต์ไว้ ส่วนกรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะต้องใช้อำนาจตามมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ในการเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งค่าดำเนินการกำจัดคราบน้ำมัน ฯลฯ

ส่วนภาคประชาชน ชาวประมง พ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ต ให้สำรวจความเสียหายไว้ โดยสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จะไปตั้งโต๊ะรับเรื่องร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมในบริเวณพื้นที่เกิดเหตุเร็ว ๆ นี้