เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า มติของ 8 พรรคร่วม ส่งชื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชิงก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่30 ในวันที่ 19 ก.ค.นี้

เป็นที่น่าสังเกต ว่าวันนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีสีหน้าเรียบเฉย และบอกว่า วันนี้ไม่มีอะไรเคลียร์ใจกับก้าวไกล จนสุดท้ายผู้สื่อข่าว ขอให้จับมือโชว์

โดยวันนี้ เมื่อเวลา 15.35 น. ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ฐานะ 1 ในทีมเจรจาพรรคเพื่อไทย เดินทางมายังอาคารไทยซัมมิท ซึ่งลงไปจอดรถบริเวณชั้นใต้ดิน ที่เจ้าหน้าที่ของพรรคก้าวไกล

โดยนายสุริยะ กล่าวสั้น ๆว่า ตนยังไม่ทราบรายละเอียดว่าจะได้ข้อสรุปวันนี้เลยหรือไม่ เนื่องจากตนเพิ่งเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ออกจากสนามบินก็มาที่นี่เลย เมื่อถามว่าใครจะเข้าเจรจาบ้าง นายสุริยะ บอกไม่ทราบ

วันนี้ (17 กรกฎาคม) ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารระเบียบวาระการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 21/2566 วันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมชั้น 9 ศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์

หนึ่งในระเบียบวาระที่ระบุไว้ คือ ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องเสนอพิจารณา คือ เรื่อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 23/2566)

โดยรายละเอียดคำร้องของ กกต. สืบเนื่องจากเหตุที่พิธามีชื่อถือครองหุ้นสื่อ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น

นอกจากนี้ กกต. มีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ต้องจับตาว่าจะมีการพิจารณารับคำร้องและสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. หรือไม่

ทั้งนี้ ในวันและเวลาเดียวกัน ที่รัฐสภาจะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการลงมติโหวตนายกรัฐมนตรีรอบสอง ในวันที่ 19 ก.ค. ว่า ทุกครั้งก่อนที่จะมีการลงมติในสภาเกี่ยวกับเรื่องสำคัญ ประเพณีของ ชทพ. คือ จะมีการประชุมล่วงหน้าก่อน 1 ชั่วโมง โดยเวลา 08.30 น. วันที่ 19 ก.ค. จะเชิญ ส.ส. ทั้งหมด 10 คนของพรรค รวมถึง น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ชทพ. และนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค เข้าร่วมประชุม เพื่อหารือกันถึงแนวทางการลงมติเรื่องดังกล่าว

เมื่อถามถึงท่าทีของ 8 พรรคร่วม ที่จะเสนอให้มีการโหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกล รอบ2 นายวราวุธ กล่าวว่า ชทพ.ยังสงสัยอยู่ว่าในเมื่อมีญัตติเสนอชื่อนายพิธาไปรอบแรกแล้วยังจะสามารถเสนอรอบสองได้อีกหรือไม่ เพราะตามข้อบังคับการประชุมของสภา หากญัตติใดมีการเสนอแล้ว ลงคะแนนจนเสร็จสิ้นแล้ว ก็ไม่น่าเสนอญัตติเดิมได้อีก จึงเป็นที่สงสัยว่า ในวันที่ 19 ก.ค. ทางพรรคก้าวไกล และ 8 พรรคร่วมยังสามารถเสนอญัตติเดิมอีกหรือไม่



ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่า ชทพ.มีแนวโน้มที่จะงดออกเสียงอีกใช่หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ต้องขอดูก่อนว่ายังจะสามารถเสนอญัตติเดิมได้อีกหรือไม่ แล้วจึงจะหารือกันภายในพรรคอีกครั้งหนึ่ง “แต่อาจจะไม่งดออกเสียงแล้ว เพราะถ้าขัดกับแนวทางการทำงานของสภา เราก็ไม่เห็นด้วยที่จะเสนอซ้ำอีกครั้งหนึ่ง”

เมื่อถามว่า ในช่วงนี้แกนนำพรรคก้าวไกล และ 8 พรรคร่วมพยายามที่จะพูดคุยให้พรรคหรือ ส.ว.ที่งดออกเสียง เปลี่ยนใจมาสนับสนุน นายวราวุธ กล่าวว่า ก็เป็นไปตามข่าว เพราะเมื่อช่วงสายวันที่ 16 ก.ค. พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้โทรศัพท์มาหาตนและบอกว่ามีการส่งเทียบเชิญมายัง ชทพ.จากพรรคก้าวไกล อยากจะขอให้พิจารณาในการเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งตนได้บอกไปว่าเรื่องใหญ่เช่นนี้ ตนไม่สามารถตอบรับได้ทันที คงต้องขอนำเข้าหารือในที่ประชุมพรรค และหารือกับ ส.ส.ในพรรคก่อนว่าแนวทางเป็นอย่างไร และได้ยืนยันไปว่าแนวทางของ ชทพ.คือ ไม่แตะต้องเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 และเชิดชู เคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ยังเป็นแนวทางหลักของ ชทพ.อยู่

เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าถ้าพรรคก้าวไกลยังไม่ยอมถอยเรื่องมาตรา 112 ก็ไม่สามารถร่วมงานกันได้ใช่หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า จะว่าอย่างนั้นก็ถูกต้อง หลายท่านอาจสงสัยว่าแล้วทำไมตอนแรก ชทพ.ถึงได้งดออกเสียง ก็ต้องขอเรียนว่าการงดออกเสียงของ ชทพ. ไม่ได้แปลว่าไม่มีความเห็น แต่เราให้เกียรติคนที่เลือกพรรคก้าวไกลเข้ามา และเราให้เกียรติพี่น้องประชาชนที่เลือกทั้งพรรคเล็กและพรรคใหญ่ให้เข้าสภา จึงได้งดออกเสียงไป แต่ถ้าจะมีการดำเนินการอะไรที่ไม่ตรงแนวทางปฏิบัติ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับรัฐสภา นั่นก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะลงคะแนน

เมื่อถามว่า ถ้ามีการเสนอชื่อนายพิธารอบสอง เป็นไปได้หรือไม่ว่า ชทพ.จะโหวตสวนไปเลย ในเมื่อรอบแรกได้งดออกเสียงไปแล้ว นายวราวุธ กล่าวว่า “ก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่จะต้องหารือกับ ส.ส.ในพรรคก่อน เพราะเราทำอะไรจะต้องไปในแนวทางเดียวกัน ไม่อยากจะปล่อยให้ฟรีโหวต เพราะไม่ได้ต่างคนต่างทำงาน เราทำงานด้วยกันในนาม ชทพ.”

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่า หากรอบนี้โหวตสวน จะโดนทัวร์ลงเหมือน ส.ว.นายวราวุธ กล่าวว่า เราโดนทัวร์ลงมาเยอะแล้ว และเข้าใจดีว่าการโดนทัวร์ลงนั้นเป็นความคิดเห็นของคนกลุ่มหนึ่ง แต่ในเมืองไทยความคิดเห็นของแต่ละกลุ่มคนก็หลากหลาย เราต้องเคารพแนวทางที่แตกต่าง นั่นเป็นวิถีของประชาธิปไตย ไม่ใช่จะต้องเห็นเหมือนกันหมด และไม่ใช่ว่าจะบังคับให้ใครคิดแบบเดียวกันหมด

เมื่อถามถึงกรณีพรรคก้าวไกลยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ปิดสวิตซ์ ส.ว. นายวราวุธ กล่าวว่า มาตรา 272 ในประโยคแรกระบุว่า ภายใน 5 ปีหลังจากใช้รัฐธรรมนูญจะให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ นั่นสะท้อนให้เห็นว่าอีกไม่นาน วรรคนี้จะหมดความหมายลง เนื่องจากเลยกำหนดเวลาในบทเฉพาะกาลแล้ว ดังนั้น การจะแก้รัฐธรรมนูญในช่วงนี้จะเป็นการสร้างเงื่อนไขใหม่ให้เกิดความซับซ้อนและกินเวลาในการโหวตเลือกนายกฯ ฉะนั้น ถ้าจะแก้ไขแค่มาตรา 272 มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับดีกว่า ซึ่ง ชทพ.ยังยึดมั่นนโยบาย ซึ่งคล้ายกับอีกหลายพรรคคือ ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาจจะยึดโมเดลของรัฐธรรมนูญปี 40 และเพิ่มเติมปรับปรุงเข้าไปให้เหมาะสมกับบริบทในปัจจุบัน แต่ไม่ว่าจะแก้มาตราใดหรือบทใด หัวใจสำคัญของ ชทพ. ต้องไม่มีการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ใดๆ ทั้งสิ้น

นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรค พท. กล่าวถึงสถานการณ์การพูดคุยระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลในการโหวตนายกฯรอบ 2 ว่า ต้องรอการพูดคุยระหว่าง 2 พรรค ตนมองว่าปัญหาปากท้องและปัญหาเศษฐกิจประชาชนเป็นเรื่องใหญ่มาก ถ้าเราไม่รีบเจรจาและจัดตั้งเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาก็จะเป็นเรื่องใหญ่ และสถานการณ์ก็บีบบังคับให้จัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุด

เมื่อถามว่า พร้อมหรือไม่ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ หากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกล ไม่ผ่านการโหวตรอบ 2 นายเศรษฐา กล่าวว่า ถ้าไม่พร้อมก็คงไม่มีรายชื่อตนเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตานายกรัฐมนตรี​พรรคเพื่อ ซึ่งพรรคเพื่อไทยไม่ว่าจะเป็นฐานะแกนนำหรือพรรคร่วมรัฐบาล ตนได้รับมอบหมายให้มาดูแลเรื่องเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่จะต้องมีการพูดคุยกันในการประชุมคณะรัฐมนตรี นัดแรก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดค่าใช้จ่ายประชาชน

เมื่อถามว่าหากสูตรจัดตั้งรัฐบาลไม่มีพรรคก้าวไกล พร้อมเป็นนายกฯหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังไม่ทราบ ยังไม่มีการพูดคุยกัน และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคได้ชี้แจง หากมีความเห็นแตกต่างกันใน 8 พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) ก็ต้องกลับมาพูดคุยกัน เพราะเราก็มีแคนดิเดตนายกฯถึง 3 คน ดังนั้นต้องให้เกียรติ กก.บห. ตนคงไม่ก้าวล่วง

เมื่อถามว่า หากสมการตั้งรัฐบาลมีพรรคอื่นเข้ามานอกเหนือจาก 8 พรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมจะรับนายกฯ หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องนี้ยังเร็วเกินไป วันนี้เป็นเรื่องของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลก่อน

เมื่อถามย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นสมการใด แต่หากกก.บห.มีมติพร้อมที่จะทำตามหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็ต้องไปว่ากันในตรงนั้น เพราะมีหลักการหลายอย่างที่ต้องมาคุยกัน ย้ำว่าเรื่องเศรษฐกิจปากท้องและจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

เมื่อถามอีกว่า ส่วนเงื่อนไขการรับตำแหน่งนายกฯนั้น นายเศรษฐา กล่าวว่า อย่าไปคุยถึงเงื่อนไข เราไม่มีเงื่อนไขอะไรทั้งสิ้น เพราะตอนนี้ต้องดูปัญหาปากท้องประชาชน แม้ประชาชนจะไม่พูดก็ตามแต่เชื่อว่าคนเป็นห่วงเรื่องนี้ อย่าลืมว่าเราเป็นนักการเมือง หน้าที่นักการเมืองคือการดูแลประชาชนไม่ใช่มาเล่นการเมือง

เมื่อถามว่า ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นอะไรก็มีทัวร์ลงตลอด นายเศรษฐา กล่าวว่า "ผมก็คงพูดสั้นๆ ว่าครับ ก็ต้องรับครับ คำว่าครับไม่ได้หมายความว่า รับหรือไม่รับ แต่หมายความว่า รับทราบกับเสียงที่ตอบมาว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ด้วยกันกับ 8 พรรค ถ้าเกิดจะไปกับพรรคก้าวไกล เราเองก็พร้อมที่จะเสนอนโยบายและประชุมครม.นัดแรก หรือถ้าเป็นเรื่องอื่นเราก็พร้อมหมด"

เมื่อถามย้ำว่า หาก กก.บห.มีแนวทางเช่นใด พร้อมทำตามมติใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า" ผมเล่นกีฬาเป็นทีมอยู่แล้ว ผมเป็นประชาธิปไตย ถ้าหากคณะกรรมการมีมติอย่างไรผมพร้อมน้อมรับ และไม่อยากพูดไปเพื่อเป็นการกดดันอะไรทั้งสิ้น เป็นหน้าที่ของกรรมการบริหารที่มีความอิสระในการตัดสิน"

เมื่อถามย้ำอีกว่า แม้จะถูกมองว่ามีการข้ามขั้วก็ตาม นายเศรษฐา กล่าวว่า อย่าเพิ่งข้ามไปดีกว่า วันนี้ขอคุย 8 พรรคร่วมรัฐบาลให้รู้เรื่องก่อนดีกว่า เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นการเล่นเรื่องการเมือง และก็เล่นการเมืองกันมาเยอะแล้ว

ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ยาวเหยียด ถึงการพูดคุยเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ว่า ไม่เข้าใจการต่อสู้ใน 2 สมรภูมิ ของพรรคก้าวไกลคืออะไร เพราะเมื่อคืนวันศุกร์ ที่ผ่านมาการหารือระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ยังไม่ได้ข้อสรุป เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ​มาตรา 272 แต่นายพิธา กลับมาแถลงถ้อยคำ ว่าจะต่อสู้ใน 2 สมรภูมิ ซึ่งเป็นการเสนอประเด็นที่อยู่นอกเหนือเอ็มโอยูที่ 8 พรรคทำนานร่วมกัน มันจึงเหมือนเป็นมัดมือชกเพื่อไทย เพราะก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทย ก็ได้ให้ความเห็นไปแล้วว่า การแก้ไขมาตรา 272 ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่ควรเร่งตั้งรัฐบาล แล้วหาทางออกร่วมกันอย่างรวดเร็ว เพราะเราห่วงโรคแทรกซ้อน หากรัฐบาลเดิมจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เราจะสู้เขาไม่ได้เพราะเขามี 188 เสียง และส.ว.อีก 250 เสียงสามารถตั้งรัฐบาลได้เลย เราต้องอยู่กับลุงไปอีก 4 ปี ประชาชนยินดีเช่นนั้นหรือไม่ ถ้าไม่ยินดีก็ต้องหาทางออก

เมื่อถามว่า ได้คิดเรื่องการเปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกฯไว้บ้างหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีแผนสำรอง แผนแรกแผนเดียว เราอยากจับมือกับ 8 พรรคร่วม เดินหน้าไปให้ถึงที่สุด แต่ต้องมีคำตอบที่ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้มีการเลือกไปเรื่อยๆ โดยที่ประเทศไม่รู้ว่าทางออกจะเป็นอย่างไร เรารอไปถึงต้นปีหน้าไม่ได้ เพราะปัญหาประเทศตอนนี้รุนแรงมาก ไม่ต้องห่วงเรื่องแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีแคนดิเดตอยู่แล้ว 3 คน หากวันไหนชัดเจนให้พรรคเพื่อไทยเสนอ เราสามารถเสนอได้

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค พท. กล่าวถึงผลการประชุมระหว่างพรรค พท. และพรรคก้าวไกล จะได้ข้อสรุปหรือไม่ ว่า ต้องได้ข้อสรุปและมีมติร่วมกันระหว่างพรรค พท. พรรคก้าวไกล และพรรคร่วมรัฐบาล ก่อนที่จะมีการประชุมรัฐสภาในวันที่ 19 ก.ค.นี้ ส่วนกระแสข่าวที่พรรค พท. จะส่งแคนดิเดตนายกฯนั้น ย้ำว่าเรายึดมั่นใจเอ็มโอยู 8 พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งข้อเสนอพรรคก้าวไกลขอเสนอชื่อนายพิธา ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณานายกฯอีกครั้ง



เมื่อถามถึงกรณีที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ระบุ ได้มีการโทรศัพท์ไปพูดคุยกับแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เพื่อให้มาร่วมตั้งรัฐบาล นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นความเห็นของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังไม่ใช่มติของ 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาล รวมถึงประเด็นที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกล เรื่องการแก้ไขม.272 ไม่ได้มีอยู่ในเอ็มโอยูเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการหารือกับพรรคเพื่อไทย เพื่อหาทางออกการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รอบที่ 2 ว่า พรรคก้าวไกลไม่เคยมีความกังวลเลย ทุกอย่างเป็นไปตาม ที่พรรคก้าวไกลได้ออกแถลงการณ์กับประชาชนไปแล้ว คาดว่าการโหวตนายพิธา ครั้งที่2 หลังออกแคมเปญ 2 สมรภูมิรบ เปลี่ยนใจ ส.ว.ให้อยู่ข้างประชาชน ที่ออกไปแล้วนั้นจะได้รับการตอบรับที่ดี ส่วน ส.ว.ที่ ไม่เห็นด้วยให้นายพิธา เป็นนายก ก็มีทางเลือกในการโหวตแก้ไขมาตรา 272 ถ้ายังไม่เป็นผล ทั้ง 2 สมรภูมิก็จะเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยในการตั้งรัฐบาลต่อไป

เมื่อถามถึง กระแสข่าวจะชวน พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมรัฐบาลนั้น นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ตามที่พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อ ส่วนตัวไม่ทราบเรื่องว่าใครเป็นคนขอให้ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ ไปต่อสายพูดคุย ถ้า 2 พรรคนี้มาร่วมก็จะเติมเสียง และถึง 376 เสียงได้ง่ายขึ้น แต่ถ้ามีเงื่อนไขไม่เอามาตรา 112 ก็คงไม่สามารถเข้าร่วมกับพรรคก้าวไกลได้ ในฐานะพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล


ขณะเดียวกัน สูตรการจัดตั้งรัฐบาล กรณีเพื่อไทยข้ามขั้ว จะมีเสียง 312 เสียง ซึ่งส.ว.ยังไงก็โหวตให้ และสามารถบริหารงานข้างหน้าได้ แม้จะไม่มีส.ว.แล้วก็ตาม

ชาติไทยฯ ชัดไม่จับมือพิธา เปิดสูตรย้ายขั้ววัดใจเศรษฐารับลุงป้อมก็ฉลุย