"พิธา" เปิด 9 ข้อต่อสู้คดียุบก้าวไกล ชี้ ศาล รธน.ไม่มีอำนาจพิจารณาคดียุบพรรค มอง กระบวนการของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุไม่ให้โอกาสรับทราบโต้แย้ง ยัน แสดงความเห็น ม.112 เป็นปัจเจก ไม่ใช่เรื่องนิติบุคคล - ปฏิเสธข้อกล่าวหาเป็นปฏิปักษ์ โทษยุบพรรคต้องเป็นกรณีสุดท้าย ชี้ แค่ตักเตือนให้หยุดการกระทำ น่าจะเพียงพอแล้ว เชื่อ 44 สส.รอด เหตุบริสุทธิ์ใจ-พรรษาน้อยอาจทำถูกบ้างผิดบ้าง - มั่นใจ สส.ไม่มีแตกแถว เพราะมีบทเรียนแล้ว การเป็นงูเห่าเท่ากับฆ่าตัวตาย 100%

วันที่ 9 มิ.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิธา ลิ้ม​เจริญ​รัตน์ ​ที่ปรึกษา​หัวหน้า​พรรค​ก้าวไกล​ ถือฤกษ์​ วันที่ 9 มิ.ย. เวลา 09.00 น. แถลงการณ์​พรรคก้าวไกล 9 ข้อต่อสู้ กรณีศาล​รัฐธรรมนูญ​วินิจฉัย​ยุบพรรค กรณีเสนอแก้ไขมาตรา 112 เป็นนโยบายในการหาเสียง

1. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอํานาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ เพราะเรื่องยุบพรรค ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

2. กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต."ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" เพราะ ผู้ถูกร้องไม่มีโอกาสรับทราบ โต้แย้ง หรือ แสดงพยานหลักฐาน ต่อสู้คดี ทั้งที่ระเบียนเขียนไว้ชัดเจน ว่า ผู้ถูกร้องต้องมีโอกาสโต้แย้ง ก่อนให้นายทะเบียนพิจารณาคำร้อง แต่มีพรรคอะไรไม่มีโอกาสชี้แจงเลย จึงถือว่าการยื่นคำร้องคดีนี้ขัดต่อระเบียบที่ กกต. ตราขึ้นเอง

3. คําวินิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค. 67 ไม่ผูกพันการวินิจฉัยคดีนี้ หลายคนมองแล้วว่า พรรคก้าวไกลต้องถูกยุบ แต่ในทางนิติรัฐ คดีหนึ่งจะผูกพันกับอีกคดีหนึ่งได้ ต้องเป็นข้อเดียวกัน แต่กรณีนี้เป็นคนละข้อหา ใช้กฎหมายคนละตัว และเมื่อต่างข้อหาก็ต่างวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และถ้าระดับโทษต่างกัน มาตรฐานในการพิจารณาจึงเข้มข้นต่างกัน

4. การกระทําที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์

5. การกระทําตามคําวินิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค. 67 ไม่ได้เป็นมติพรรค​

6. โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อจําเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ด้วยความอดทนอดกลั่น หากพิจารณาตามคำร้องเรื่องการเสนอนโยบายแก้ไขมาตรา 112 เรื่องนี้ สภาก็ยังสามารถยับยั้งแก้ไขได้ มันยังมีขั้นตอนอีกหลายขั้นตอนที่หยุดเรื่องนี้ได้ ไม่ใช่ความผิดที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น การสั่งให้หยุดการกระทำก็เพียงพอแล้ว ยกตัวอย่าง ศาลรัฐธรรมนูญ​ของเยอรมนี​ปี 2017 NPD มีการแสดงออกด้วยอุดมการณ์นาชี ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า "ล้ม ล้างแต่ไม่ยุบ" เพราะไม่มีหลักฐานอันเป็นรูปธรรมที่พิสูจน์​ได้ว่า แนวคิดของ NPD มีโอกาสจะประสบความสำเร็จได้ ขนาดจําเป็นต้องยุบพรรค

7. ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอํานาจตัดสิทธิ กก.บห.

8. จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมือง ต้องได้สัดส่วนกับความผิด

9. การพิจารณา​โทษ ต้องสอดคล้อง กับชุดกก.บห.ในช่วงที่ถูกกล่าวหา

นายพิธา ยังกล่าวด้วยว่า การเสนอกฎหมายแก้ไข ม.112 เป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ เนื้อหาที่เสนอแก้ไข ไม่เป็นการล้มล้าง // ขณะที่การเสนอ แก้ไข มาตรา 112 เป็นนโยบาย กกต. ก็ไม่เคยสั่งห้ามหรือขอให้มีการแก้ไขนโยบายหรือเคยมีคนร้อง กกต. ก็ถูกยกคําร้อง อีกทั้ง ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้สั่งห้าม // ส่วนแสดงความเห็นแก้ไข-ยกเลิก ม.112 คนของพรรคเราไปสังเกตการณ์ชุมนุมเพื่อรับฟังความเห็นของประชาชน และเป็นการกระทําของ สส. ไม่ใช่ในนามพรรค และที่ไปประกันตัวนักโทษคดี 112 เพราะพรรคเราคิดว่า ตราบใดที่คดียังไม่ถึงที่สุดถือว่าเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ที่สำคัญพฤติกรรมของบุคคล ไม่สามารถนำมารวมว่าเป็นมติของพรรคได้ และ มั่นใจ 44 สส. ที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขกฎหมาย จะไม่ถูกพิจารณาตัดสิทธิ์ไปด้วย เพราะเจตนาและการกระทำของ สส. ไม่ได้ต้องการล้มล้างและไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองได้

เมื่อถามความชัดเจน เรื่องการตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคตามคำร้อง ของ กกต. นายพิธา ระบุว่า ตามคำร้องของ กกต. ตัดสิทธิ์ ทั้ง 3 ชุด ทั้งกรรมการบริหารพรรคชุดที่ 1 ชุดที่ตัวเองลาออก และชุดที่ 3 คือ ชุดที่เพิ่งตั้ง แต่ตัวเองมองว่าสัดส่วนของโทษควรจะสอดคล้องกับสัดส่วนของเวลา เพราะกรรมการบริหารพรรคชุดที่ 3 เกิดขึ้นไม่เกิน 6 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้น ไม่ควรลากเข้ามาเกี่ยวข้อง

"มันก็จะเป็นการยุบ 2 พรรคใน 5 ปี และเป็นการยุบ 5 ครั้งในรอบ 20 ปี ตนไม่กล้าที่จะเดาหรือคิด ว่า มันจะเกิดผลกระทบอะไรกับเมืองไทย หรือการเมืองไทย บางทีทั้งเศรษฐกิจการเมืองไทย และสังคมเปราะบางอย่างนี้ ก็ไม่อยากให้ไปถึงจุดนั้น และถ้ามันไม่รุนแรง ร้ายแรงถึงที่สุด ผมคิดว่าที่สุด คือ การเตือนว่าให้หยุดการกระทำ น่าจะเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องตัดสิทธิ์ทางการเมือง นักการเมืองถึง 44 คน ซึ่งมีเจตนาดี อาจจะไม่สมบูรณ์แบบทุกคน แต่ถือว่าเป็นทรัพยากรทางการเมือง ทำผิดบ้างถูกบ้าง และ ถือเป็นเลือดใหม่ทางการเมือง เพราะทั้งหมดมีประสบการณ์มาไม่ถึง 5 ปี" พิธา กล่าว.

นายพิธา ยังกล่าวด้วยว่า ตอนนี้พรรคเดินหน้าเรื่องการต่อสู้คดี แต่ก็ยอมรับมีแผนสำรองแล้ว และคิดว่าหากมีการยุบพรรคจริง สส.ทั้งหมดจะไม่แตกแถว เพราะเรามีความเป็นเอกภาพ มีความเป็นปึกแผ่น และจากประสบการณ์การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา การเป็นงูเห่า คือ การฆ่าตัวตายทางการเมืองแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีโอกาสกลับมา สส. ได้เลย และครั้งนี้ประชาชนร่วมตรวจสอบด้วย ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่ประมาทและไม่กังวล เพราะมีบทเรียนทั้งภายนอกและภายใน

ขณะเดียวกันเราต้องรับฟัง แต่ยังไม่เชื่อข้อมูล หรือคลิปวิดีโอที่ส่งมาถึงตัวผม ต้องมีการพูดคุยและตรวจสอบก่อน เพราะตนไม่ได้ไร้เดียงสาถึงขนาดไม่รู้ ว่า มีพรรคการเมืองพยายามดึง สส. พรรคก้าวไกลไปร่วมเพื่อต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี เรื่องพวกนี้ตัวเองรู้ทัน แต่ตนยังมั่นใจในตัว สส. ของพรรคก้าวไกล ไม่ได้หูเบา เห็นแล้วมีอคติเลย

อย่างไรก็ตาม นายพิธา หวังว่า ศาลจะเปิดให้ไต่สวน​คดี ถ้าศาลเปิดให้มีการไต่สวน เราก็เตรียมพยานไว้มากกว่า 10 คน ซึ่งหากมีกระบวนการไต่สวน ก็คิดว่าคดีนี้ยังต่อสู้กันอีกยาว

 

"พิธา" แถลงเปิด 9 ข้อต่อสู้คดียุบก้าวไกล ชี้ ศาล รธน.ไม่มีอำนาจพิจารณาคดียุบพรรค