ผอ.เขตห้วยขวาง ลงพื้นที่ หาความจริง ป้ายโฆษณาขายพาสปอร์ต ติดตั้งถูกต้องหรือไม่? พร้อมสั่งปรับเจ้าของอาคาร 5,000 บาท

จากกรณีที่สื่อโซเชียลได้มีการแชร์ภาพป้ายโฆษณาซื้อขายพาสปอร์ตที่มีการติดตั้งในพื้นที่ แยกห้วยขวาง จนนำมาสู่ข้อครหาจากประชาชนว่าป้ายดังกล่าวมีการติดตั้งถูกต้องจริงหรือไม่

วันที่ 23 ก.ค. 2567 นายไพฑูรย์ งามมุข ผู้อำนวยการเขตห้วยขวางเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าป้ายดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคารฉบับที่ 55 พ.ศ.2553 มาตรา 66 / พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 มาตรา 10 / 11 และ 12 ต้องแสดงข้อความและภาพที่ไม่ขัดความเรียบร้อยของบ้านเมืองและวัฒนธรรม ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานเขตห้วยขวางได้ส่งผู้เชี่ยวชาญภาษาจีน แปลข้อความ

ส่วนเรื่องการเสียภาษีป้าย ทางเขตสามารถดำเนินการเรียกเก็บภาษี โดยจะคำนวณภาษีจากขนาดของป้าย 50 บาทต่อตารางเซนติเมตร รวมเป็นเงินประมาณ 160,000 ต่อปี แต่กรณีสามารถเรียกเก็บภาษีได้ครึ่งหนึ่ง คือ 84,000 บาท เนื่องจากตรวจสอบพบว่าเพิ่งมีการดำเนินการติดตั้งเพียง 2 วัน

ซึ่งจากนี้จะมีการตรวจสอบสภาพอาคาร รวมถึงโครงสร้างของป้ายดังกล่าวว่ามีความสมบูรณ์แข็งแรงมากน้อยเพียงใด หากไม่สมบูรณ์ ก็ไม่สามารถที่จะติดตั้งโฆษณาได้ เบื้องต้นพบว่าอาคารแห่งนี้เป็นการลักลอบติดตั้งป้าย เพราะหลังจากตรวจสอบพบทางเขตก็เร่งดำเนินการทันที และหลังจากนี้ทางเขตจะเข้มงวด ตรวจสอบป้ายลักษณะนี้ในพื้นที่ซึ่งมีอยู่ประมาณ 153 ป้าย ว่าเข้าข่ายกระทำความผิดหรือไม่แต่ยืนยันว่า ที่ผ่านมาไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่สังกัดของสำนักงานเขตห้วยขวางเข้าไปเกี่ยวข้องหรือมีการทุจริตอย่างแน่นอน และการดำเนินการเรียกเก็บภาษีทุกอย่างเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ ซึ่งทางเขตได้เงินจากภาษีป้าย เป็นอันดับต้น ๆ ของกรุงเทพมหานคร

โดยขณะนี้ทางเขตได้เรียกเจ้าของอาคารมาดำเนินการเปรียบเทียบปรับ เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท ในความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคารฉบับที่ 55 พ.ศ.2553 มาตรา 66 ส่วนเจ้าของป้ายซึ่งพบว่าเป็นบริษัทที่มีเจ้าของเป็นคนไทย จะต้องมาเสียภาษีภายใน 15 วันหลังจากนี้

ส่วนประเด็นการโฆษณาซื้อขายสัญชาติหรือพาสปอร์ตนั้น ขอให้เป็นหน้าที่ของตำรวจในการพิสูจน์ทราบ ว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดใดบ้าง เบื้องต้นพบข้อมูลในป้ายไม่ได้มีการประกาศซื้อขายสัญชาติไทย โดยพบว่าบริษัทที่ว่าจ้างนั้นมีเจ้าของเป็นชาวสิงคโปร์ แต่ ยังไม่สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้เพราะต้องรอตำรวจตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง


ทั้งนี้ทีมข่าวออนไลน์ช่อง 8 ได้สอบถามถึงขั้นตอนการติดตั้งป้ายดังกล่าว ว่ามีขั้นตอนอย่างไร นายไพฑูรย์ บอกว่า สำหรับป้ายเอกชนเริ่มต้นต้องยื่นขออนุญาตต่อฝ่ายโยธา เนื่องจากโครงสร้างป้ายเป็นโครงสร้างเดียวกันกับตัวอาคาร ต้องการตรวจสอบน้ำหนักของป้ายการติดตั้งสายไฟรวมถึงขนาดต่างๆของป้ายด้วย หลังจากนั้นภายใน 30 วันเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบหากไม่ถูกต้องก็จะมีการออกแบบให้แก้ไขให้เป็นไปตามความถูกต้อง

ส่วนเรื่องเนื้อหาของป้ายทางเขตจะมีการตรวจสอบเพียงแค่ข้อความของป้ายว่าผิดศีลธรรมหรือ ก่อให้เกิดความไม่สงบต่อบ้านเมืองหรือไม่ ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด สำหรับการตรวจสอบในเรื่องของข้อความ ทางสำนักงานเขตจะมีนิติกรเขต สายตรวจเทศกิจ เข้ามาตรวจสอบว่าเข้าข่ายมีมีความผิดหรือไม่ก่อนจะออกมาเป็นคำสั่งแล้วให้ทางใต้โฆษณาได้มีการปรับแก้อีกครั้ง

สำหรับป้ายที่กำลังเป็นประเด็นในตอนนี้ ติดตั้งมาเพียงสองวัน คือตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม และดำเนินการปลดออกเมื่อวานนี้ ซึ่งมีนิติกรเข้ามาตรวจสอบป้ายดังกล่าวแล้วและได้เก็บข้อมูลซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบว่ามีข้อความที่พบการกระทำความผิดหรือไม่

ซึ่งทางผู้อำนวยการเขต ยืนยันกับทางทีมข่าวออนไลน์ช่อง 8 ว่า ป้ายดังกล่าวมีความผิดในส่วนของข้อความ ในมาตรา 12 ในส่วนทางอาคารต้องมีการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งเนื่องจากเจ้าของป้ายได้แจ้งว่ามีการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2532 ซึ่ง กฎหมายในเรื่องป้ายออกมาเมื่อปี 2533 หลังจากนี้ทางเขตก็ได้แจ้งให้กับเจ้าของอาคารได้เข้ามายื่นหลักฐานตรวจสอบหาข้อเท็จจริงว่ามีการติดตั้งป้ายในปีดังกล่าวจริงหรือไม่

ในส่วนเรื่องป้ายตอนนี้ทางสำนักงานเขตจะมีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้นและดำเนินการตรวจสอบทุกป้ายในเขตห้วยขวางว่ามีการกระทำความผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายของประเทศไทยหรือไม่