ตร.โชว์ยิงเสื้อเกราะที่ปรากฏในโซเชียล ยันไม่ได้ทำจากไม้อัด เลิกใช้งานแล้ว รอทำลาย

วันนี้ 24 ก.ค. เวลา 14.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทีมโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแถลงข่าว ชี้แจงกรณีปรากฏภาพเสื้อเกราะของตำรวจว่า วัสดุด้านในลักษณะคล้ายไม้อัด จนทำให้สังคมเกิดข้อสงสัย ว่าเสื้อเกราะดังกล่าวสามารถป้องกันอันตราย ผู้ใช้งานได้หรือไม่

พ.ต.อ.วีระยุทธ หิรัญ รองผู้บังคับการกองสรรพาวุธ กล่าวว่า เสื้อเกราะที่ปรากฏตามภาพในโซเชียลมีเดีย ที่มีหมายเลขซีเรียลนัมเบอร์ 8A154338 ดังกล่าวเคยใช้ในราชการตำรวจ โดยจัดซื้อเมื่อเดือนเมษายนปี 2553 ทั้งหมด 650 ตัว

เป็นเสื้อเกราะพร้อมแผ่นเกราะแข็งระดับ 3 จำนวน 500 ตัว และเป็นเกราะอ่อนอีก 150 ตัว ยืนยันว่าเกราะทุกตัวเป็นไปตามมาตรฐาน NIJ (National Institute of Justice) ประเทศสหรัฐอเมริกา

หลังเกิดประเด็นในสังคม ทางกองสรรพาวุธฯ ได้ไปตรวจสอบในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างเสื้อเกราะ ซึ่งวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง คือ ให้ผู้เสนอราคานำแผ่นเกราะมาเสนอพร้อมยื่นราคา จากนั้นจะมีการทดสอบประสิทธิภาพการป้องกันโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ยิงทดสอบ

จนเมื่อผ่านเกณฑ์ไปแล้ว ผู้ที่เสนอราคาผ่านจะต้องถูกสุ่มตรวจวัสดุของเกราะอีกครั้งหนึ่งแบบมีหลักการจากหน่วยงานกลาง เพื่อพิจารณาเรื่องเส้นใยวัสดุที่จะต้องมีความแข็งแรงปลอดภัยสูงสุด สรุปได้ราคาจัดซื้อ ชุดดังกล่าวที่ราคา 34,000 บาทต่อตัว

พ.ต.อ.วีระยุทธ ยืนยันว่า การจัดซื้อจัดจ้างเกราะเป็นไปโดยโปร่งใสตามขั้นตอนตรวจสอบได้ ยุทธภัณฑ์นี้ มีประสิทธิภาพป้องกันได้ถึงระดับ ปืนสงคราม

ขณะที่ พล.ต.ต.นิรันดร ศิริสังข์ไชย ผู้บังคับการกองสรรพาวุธ กล่าวเสริมว่า นอกจากการจัดหาเสื้อเกราะให้กำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กำหนดการประกันคุณภาพเสื้อเกราะ รวมทั้งประกันชีวิต และประกันการบาดเจ็บของผู้สวมใส่ไว้ตามระยะเวลาข้างต้นด้วยหากได้รับบาดเจ็บเป็นเงิน 500,000 บาท เสียชีวิตเป็นเงิน 1 ล้านบาท

ทั้งนี้ เสื้อเกราะดังกล่าว ที่เป็นประเด็นตามระเบียบราชการถือว่าหมดอายุการใช้งานแล้วเมื่อปี 2559 เพราะตามอายุที่กำหนดไว้คือ 5 ปีเท่านั้น ขั้นตอนจากนี้จะเป็นการจำหน่ายและทำลายยุทธภัณฑ์ตามระเบียบราชการ

ด้าน พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ กล่าวว่า ภาพเกราะที่ปรากฏตามสื่อโซเชียลเป็นเกราะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในชุดจัดซื้อ 8A154338 จริง แต่เศษไม้ลักษณะสามเหลี่ยมที่วางอยู่บนเกราะยืนยันว่า ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเกราะแน่นอน แต่เป็นชิ้นส่วนจากสิ่งใดยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เนื่องจากภาพที่โพสต์เป็นการครอปภาพแบบแคบจนไม่เห็นภาพรวมของเสื้อเกราะ

ทั้งนี้สำนักงานพิสูจน์หลักฐานได้รับแผ่นเกราะมาทดสอบ เพื่อหาคำตอบว่าวัสดุภายในเป็นสิ่งใดบ้าง โดยเจ้าหน้าที่นำมาชำแหละตรวจสอบโครงสร้างวัดขนาด ชั่งน้ำหนัก จากนั้นได้ตรวจสอบทางกายภาพ พบว่า วัสดุของเกราะมีการวางซ้อนกันด้วยผ้าแผ่นบางๆ ซ้อนกันมากกว่า 100 ชั้น

เมื่อถ่ายจากกล้องวิดีโอไมโครสโคป 3D กำลังขยาย 1,500 ขึ้นไปจะพบว่าวัสดุของเกราะเป็นเส้นใย "โพลีเอทิลีน ผสมกับพอลิสไตรลีน" อัดด้วยกำลังอัดแน่นความดันสูงจนทำให้ผ้าทั้งหมดรวมตัวกันจึงมีลักษณะเหมือนของแข็ง

พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวว่า คุณสมบัติของเส้นใหญ่โพลีเอทิลีน เมื่อผ่านกระบวนการผลิตเทคนิคพิเศษทำให้เกิดความแข็งแรง และมีน้ำหนักเบา เมื่อมาใช้กันกระสุนคุณสมบัติของเส้นใยชนิดนี้ กระสุนจะถูกจับยึด ด้วยเส้นใย เส้นใยเหล่านี้จะดูดซับ และกระจายพลังงานของหัวกระสุนปืน เป็นผลให้กระสุนนั้นบิดเบี้ยวหรือเสียรูปไปจนไม่สามารถทะลุเกาะได้

หลังตรวจสอบวัสดุ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานฯ ได้ทดสอบด้วยการยิงกระสุนจริงใส่เสื้อเกาะ โดยใช้กระสุนขนาด 9 มม. ขนาด .357 และขนาด 45 มม. อย่างละ 3 นัด รวม 9 นัด ผลปรากฏว่าเสื้อเกราะทั้ง 3 ตัว สามารถกันกระสุนได้ทั้งหมดไม่มีกระสุนนัดใดทะลุเสื้อเกราะ

ขณะที่ พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อว่า หลังจากยุทธภัณฑ์หมดอายุการใช้งาน จะไม่สามารถขายให้บุคคลใดได้เนื่องจากเป็นยุทธภัณฑ์ของทางราชการ

ขอย้ำกับพี่น้องข้าราชการตำรวจที่ต้องทำงานที่มีความเสี่ยง ว่า ผู้บังคับบัญชาทุกระดับมีความเป็นห่วง ในการที่พวกท่าน ต้องออกปฏิบัติหน้าที่เพื่อพี่น้องประชาชน สิ่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดหาให้ขอให้เชื่อมั่น ว่าเป็นไปตามมาตรฐาน

โดยในระหว่างการแถลงข่าว เจ้าหน้าที่ได้เปิดคลิปวิดีโอ ยิงทดสอบเสื้อเกราะระบุหมายเลขซีเรียลนัมเบอร์ 8A154338 ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่ปรากฏในภาพดังกล่าวให้รับชมด้วยอาวุธปืนพก 3 แบบ ประกอบด้วยกระสุนขนาด 9 มม., ขนาด .357 แม็กนั่ม และขนาด .45 อย่างละ 3 นัด พร้อมอธิบายถึงวัสดุและเส้นใยที่ใช้ผลิตเสื้อเกราะตัวดังกล่าว

ซึ่งผล ปรากฏว่าเกาะดังกล่าวสามารถกันกระสุนได้จริง นอกจากนี้ยังได้นำเสื้อเกราะตัวดังกล่าว มาทดลองให้สื่อมวลชนชายได้นำทดสอบเลื่อยด้วยตนเอง ซึ่งพบว่าเกราะดังกล่าวยังมีความเหนียว และไม่สามารถตัดเข้าได้สำเร็จ

หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวยังได้ ขอให้มีการทดลองยิงเสื้อเกราะตัวเดียวกันอีกครั้ง โดยมีตัวแทนผู้สื่อข่าวเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ โดยพล.ต.ท.ไตรรงค์ ได้นำเสื้อเกราะตัวเดียวกันไปทดสอบยิงที่ห้องปฏิบัติการ ด้วยอาวุธปืนพก 3 แบบ ประกอบด้วยกระสุนขนาด 9 มม., ขนาด .357 แม็กนั่ม และขนาด .45 รวม 8 นัด ในระยะยิง 5 เมตรซึ่งเป็นระยะที่อาวุธปืนทั้ง 3 ชนิดสามารถแสดงผลความเสียหายได้ดีที่สุด โดยปรากฏร่องรอยการกระสุน บริเวณท้อง ไหล่ซ้าย-ขวา ซึ่งพบกระสุนทั้งหมดฝังอยู่ในเสื้อเกราะ ไม่ได้ทะลุออกไป

ตร.โชว์ยิงเสื้อเกราะที่ปรากฏในโซเชียล ยันไม่ได้ทำจากไม้อัด เลิกใช้งานแล้ว รอทำลาย