ชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพหลักได้ โดยที่จังหวัดตรัง ชาวบ้านได้พลิกวิกฤต หันมาหาปลา เพื่อสร้างรายได้

หลังเกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก ในพื้นที่จังหวัดตรัง ทำให้ในพื้นที่ลุ่มต่ำ แม่น้ำ ลำคลอง น้ำได้เอ่อท่วมสูงอย่างหนัก โดยที่บริเวณคลองส่งน้ำสายใหญ่ ฝายคลองนางน้อย โครงการชลประทานตรัง หมู่ที่ 7 ริมถนนสาย ตรัง - พัทลุง ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองตรัง ชาวบ้านในพื้นที่กว่า 20 - 30 คน ได้รวมตัวกันนำ "ยอเล็ก" ซึ่งเป็นเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นร่างแหผืนสี่เหลี่ยม มุมทั้งสี่ผูกติดกับคัน

โดยใช้คนๆเดียว ยกคันไม้ไผ่ขนาดพอเหมาะ สำหรับยกขึ้นลงได้ แช่ลงไว้ในน้ำ ทำให้ปลาชนิดต่างๆ มาติดอยู่ในยอดังกล่าว และก็ยกขึ้น รวมทั้งมีการใช้ "โพรงพราง" ที่เป็นเครื่องมือที่ใช้อวน ลักษณะคล้ายถุงปากอวน กางยึดติดกับที่ โดยวิธีให้กระแสน้ำพัดพาสัตว์น้ำเ ข้าไปในถุงอวนอีกด้วยเช่นกัน

และเมื่อได้ปลาแล้ว ก็นำมาตั้งขายกันริมถนน ทำให้ผู้คนที่สัญจรไปมา แวะซื้อหากันอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งเป็นการสร้างรายได้อีกอย่างหนึ่งของชาวบ้าน ในช่วงฝนตกหนักและน้ำท่วม

ชาวบ้าน เล่าว่า ปลาส่วนใหญ่ที่จับได้จะเป็น ปลาหมอ ปลากระดี่ ปลาขี้ขม ปลาไหลลาย และ ปลาช่อน รวมทั้ง ปลาเล็กปลาน้อยอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจะขายเป็นกอง ราคากองละ 50 บาท

ลูกค้าส่วนใหญ่ จะซื้อไปประกอบอาหาร เช่น แกงคั่ว แกงเผ็ด ที่มีรสชาติที่เผ็ดจัดจ้านอย่างมาก ซึ่งที่ชื่นชอบของผู้คนในภาคใต้ สำหรับปลาตัวใหญ่ เช่น ปลาไหล ปลาช่อน จะขายเป็นกิโลกรัม สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านต่อคนวันละ 2,000 - 3,000 บาท เป็นที่พึงพอใจแก่ชาวบ้านอย่างมากในช่วงนี้ เพราะไม่สามารถกรีดยางพาราที่เป็นอาชีพหลักได้ เนื่องจากฝนที่ตกหนัก และ มีน้ำท่วมสูงปิดเส้นทางจราจร

 

Cr.ถนอมศักดิ์ // ตรัง