ประธาน ป.ป.ช. ชี้สถานการณ์ทุจริตไม่ลดราวาศอก แม้ช่วงโควิด ยังพบร้องเรียนกว่า 1.5 หมื่นเรื่อง ลุยปราบเชิงรุก มั่นใจกลไกการศึกษา-ศาสนา ปลูกฝังวิธีคิด จิตสำนึกต้านโกง

 

วันที่ 20 ส.ค. 2564 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับชาติ เรื่อง “ถอดกับดัก คอร์รัปชัน : The Big Push in Corruption Trap” โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นประธาน

พล.ต.อ.วัชรพล ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “กับดักคอร์รัปชันในอนาคต : การถอดกับดักที่ทรงพลัง” ระบุว่า ยุทธศาสตร์ชาติป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 สิ้นสุดลง ปี 2564 จึงต้องสรุปผลการดำเนินการ เพื่อวิเคราะห์แสวงหาแนวทางในการป้องกันการทุจริตทุกระดับ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ทำให้ประชาชนมีความทุกข์ยาก วิถีชีวิตต้องปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอด และเตรียมพร้อมกับอนาคตใหม่เมื่อผ่านพ้นความทุกข์ยากนี้ แต่ภายใต้ความทุกข์นี้ยังมีปัจจัยที่ไปเพิ่มความทุกข์ยากให้ยิ่งขึ้นไปอีกคือการทุจริตคอร์รัปชันที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ดูได้จากข้อมูลสถิติเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ระหว่างปี 2560-2564 พบว่าปี 2560 มีเรื่องกล่าวหาเข้ามา 4,896 เรื่อง ปี 2561 มีเรื่องกล่าวหาเข้ามา 4,622 เรื่อง

โดยในปี 2562 จนถึงปัจจุบัน พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กำหนดให้ ป.ป.ช.รับเรื่องร้องเรียนกล่าวหาทุจริตของเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ทำให้ในปี 2562 มีเรื่องกล่าวหาเข้ามา 10,382 เรื่อง ป.ป.ช.รับดำเนินการเอง 3,285 เรื่อง มูลค่าความเสียหาย 2.3 แสนล้านบาท

ปี 2563 มีเรื่องกล่าวหาเข้ามา 9,130 เรื่อง ป.ป.ช.รับดำเนินการเอง 2,951 เรื่อง มูลค่าความเสียหาย 9 หมื่นล้านบาท และในปี 2564 ข้อมูลจนถึงวันที่ 26 ก.ค. 2564 มีเรื่องกล่าวหาเข้ามา 6,153 เรื่อง ป.ป.ช.รับดำเนินการเอง 1,963 เรื่อง

จะเห็นว่า แม้ในภาวะวิกฤตโควิด-19 เกิดขึ้น ปี 2563-64 ยังมีคำกล่าวหาเข้ามา 15,283 กรณี แสดงว่าการทุจริตไม่มีการลดราวาศอกหรืออ่อนข้อให้กับสถานการณ์ใด ๆ

ประธาน ป.ป.ช. กล่าวเชื่อว่า การป้องกันและปราบปรามการทุจริต นอกจากระบบของประเทศที่ต้องมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใสแล้ว เรายังต้องเข้าใจและส่งเสริมนิเวศวิทยาของมุนษย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมให้มีความแข็งแกร่ง นิเวศวิทยาของมนุษย์เริ่มจากปัจเจกบุคคล ขยายวงเป็นครอบครัว และใหญ่ขึ้นเป็นชุมชน สังคม ชาติ และโลก ณ เวลาและอนาคต ปัจเจกบุคคล ครอบครัว ชุมชน ยังคงความสำคัญของนิเวศวิทยาของมนุษย์ ที่เราทุกคนหวังให้มีความเข้มแข็งและทรงพลัง เพื่อถอดกับดักคอรัปชันให้หมดสภาพ ซึ่งกับดักคอร์รัปชัน คือ จิตใจ ความรู้สึกนึกคิดที่อ่อนแอ ถูกครอบงำโดยง่ายด้วยกิเลส ความโลภ ขาดอุดมการณ์และแรงจูงใจในการประพฤติดี มีค่านิยมที่ผิดยกย่องคนมีเงินโดยไม่สนใจปัจจัยอื่น ๆ ยอมตนอยู่ใต้อิทธิพลของผู้ทุจริต และมีค่านิยมว่าการทุจริตเป็นวิถีชีวิตปกติธรรมดา เห็นคนฉวยโอกาส เอาเปรียบคนอื่นเป็นคนฉลาด ดังนั้นการถอดกับดักคอร์รัปชันที่ทรงพลัง คือ การพัฒนาจิตใจของบุคคล ครอบครัว ชุมชนให้เข้มแข็ง โดย ป.ป.ช.ได้ดำเนินการทั้งการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเชิงรุก ทั้งมาตรการและข้อเสนอแนะป้องกันการทุจริต ต่อ ครม. และหน่วยงานต่าง ๆ การประเมินความโปร่งใสหน่วยงานภาครัฐ โดยในปี 2564 มีหน่วยงานภาครัฐเข้าประเมิน 8,300 แห่ง ผลการประเมินได้คะแนนเฉลี่ย 81.25 ส่วนหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์ 85 คะแนนขึ้นไปมีจำนวน 4,146 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 49.95 ทั้งนี้ จากปี 2561-2564 การประเมินมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แสดงว่าการให้บริหารหน่วยงานภาครัฐได้รับการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น

โดยในปี 2565 จะมีการประเมินรายละเอียดไปถึงระดับอำเภอเพิ่มเติม 878 แห่ง และสถานีตำรวจนครบาล 88 หน่วย ทั้งนี้ยังมีมาตรการป้องกันเชิงรุก คือการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต และยังมีกลไกป้องกันและป้องปรามการทุจริตในระดับชุมชนและสังคม โดยมีการจัดตั้งชมรม strong-จิตพอเพียงต้านทุจริต ในทุกจังหวัด มีสมาชิก 63,552 คน นำมาสู่การป้องกันทุจริตเชิงรุก ร่วมป้องปรามการทุจริตในชุมนุม โดยผลลัพธ์การดำเนินการของชมรม strong-จิตพอเพียงต้านทุจริต เช่น เสาไฟประติมากรรมกินรี อบต. ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เป็นต้น มาตรการเหล่านี้เป็นการเสริมความเข้มแข็งในการถอดกับดักคอร์รัปชันในระดับชุมชน สังคม ส่วนระดับบุคคล ต้องใช้การสร้างเสริม จิตใจที่แข็งแกร่งด้วยกลไกทางการศึกษา และศาสนา ซึ่งมีการสร้างหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาตั้งแต่ปี 2561 เป็นเครื่องมือในการปรับวิธีคิดให้คนไทยคิดแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวม และผลประโยชน์ส่วนตน ละลายและไม่ทนต่อการทุจริต จิตพอเพียงต้านทุจริต พลเมืองและรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งปัจจุบันเป็นรายวิชาการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีการฝึกอบรมในหน่วยงานทหารและตำรวจ

 

“เชื่อว่า กลไกในการป้องกันและป้องปรามการทุจริตในทุกภาคส่วน รวมทั้งกลไกการศึกษาและศาสนาในการปลูกฝังวิธีคิดและจิตสำนึกต้านทุจริต จะสร้างความเข้มแข็งของสังคม ชุมชน และครอบครัวได้ และความเข้มแข็งนี้จะทำให้กับดักคอร์รัปชันไม่มีอิทธิพลอิทธิฤทธิ์อีกต่อไป และปรากฏแค่ในตำนานเท่านั้น” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว