ผู้ว่าฯสมุทรสงคราม ลงพื้นที่ชมกระบวนการนึ่งปลาทูแม่กลองผลักดันให้เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือGI ของจังหวัดสมุทรสงคราม

 

28 ก.ย.2564 นายชรัส บุญณสะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ตรวจเยี่ยมขั้นตอนการผลิต ปลาทูแม่กลอง หน้างอคอหัก ณ ต.แม่กลอง อ.เมืองสมุทรสงคราม โดยมี นางวงษ์รัตน์ หลักแหลม อายุ 66 ปี เป็นเจ้าของ พร้อมระบุว่า ประกอบอาชีพนึ่งปลาทูขายมากว่า 50 ปีแล้ว ลูกค้าที่มารับก็จะเป็นแม่ค้า-พ่อค้า ที่ขายอยู่ในตลาดแม่กลอง และต่างจังหวัด เริ่มกระบวนการ ตั้งแต่เช้ามืดตามที่ลูกค้าสั่ง ในแต่ละวันจะนึ่งวันละประมาณ 200–300 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นปลาทูในอ่าวไทย เมื่อนำออกจากการแช่แข็งแล้ว จะแช่น้ำเย็นประมาณ 15 นาที ในระหว่างนั้นก็จะเปิดเหงือกออก และควักไส้ ล้างน้ำและนำมาใส่เข่งตามขนาดด้วยการหักหน้าให้งอ เข่งละ 2 ตัว และนำไปต้มในน้ำผสมเกลือที่ต้มเดือดประมาณ 7-10 นาที และนำขึ้นจากเตา ส่งกลิ่นหอมชวนรับประทานเป็นอย่างยิ่ง ป้ารัตน์ ระบุเพิ่มอีกว่า ก่อนที่จะเกิดโรคโควิด-19 ระบาด เคยนึ่งขายวันประมาณกว่า 1,000 กิโลกรัม ตอนนี้ลดจำนวนลงเยอะมาก แต่ก็ยังสามารถอยู่ได้

ด้าน นายชรัส บุญณสะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ปลาทูแม่กลองอยู่คู่ชาวแม่กลอง และมีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน ในลักษณะของปลาทูนึ่งในเข่งเล็ก ๆ หน้างอ คอหัก และมีรสชาติความอร่อยอันโดดเด่น เป็นที่ยอมรับว่าเป็นสุดยอดปลาทูไทยหนึ่งเดียว เนื่องจากเป็นอาหารหลักของคนไทย เนื้อนุ่ม มีโอเมก้า 3 และมีคุณค่าทางอาหารมากมาย ด้วยเหตุนี้ทาง จ.สมุทรสงคราม จึงส่งเสริมขอขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI มีเอกลักษณ์ 2 ประการ คือ เอกลักษณ์ด้านรสชาติ และด้านรูปร่างของปลาทูแม่กลอง

การสร้างเอกลักษณ์ของปลาทูแม่กลองสามารถส่งเสริมให้ปลาทูนึ่งแม่กลองเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้เพราะมีความสัมพันธ์กับที่ตั้งภูมิศาสตร์ และเอกลักษณ์ที่โดดเด่น การเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จะช่วยให้สินค้าปลาทูแม่กลองเป็นสินค้าเฉพาะถิ่นที่ไม่ถูกลอกเลียนแบบ สามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้า และสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักภายในประเทศ และต่างประเทศ