LGBTIQ เเต่งงานยังลำบากเเล้ว ยิ่งพิการหูหนวก หูตึง ยิ่งถูกกดทับสิทธิความเท่าเทียมมากขึ้นไปอีก นับประสาอะไรกับคำว่า 'สมรสเท่าเทียม' ที่ถูกมองข้ามจากรัฐไทย
#สมรสเท่าเทียม ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ เมื่อ 17 พ.ย. 2564 หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคสาม
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสมควรดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศต่อไป
(อ่านประกอบ : มติเอกฉันท์! ศาล รธน.ชี้ กม.สมรสชาย-หญิง ไม่ขัดเเย้งรัฐธรรมนูญ เเนะรัฐตรา กม.เเต่งงานเพศเดียวกัน)
พลันให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ออกมาเคลื่อนไหวและจี้ให้รัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมาย สร้างพื้นที่ความเท่าเทียมให้แก่พวกเขาและเธอ ล่าสุด ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียมและเครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศมากกว่า 18 องค์กร เตรียมนัดลงถนน 28 พ.ย. นี้ เพื่อกดดันอีกแรงหนึ่ง
เพราะผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศก็ต่างต้องการสมรสอย่างถูกกฎหมายได้เหมือนชายและหญิง
เฉกเช่นเดียวกับเธอ ‘บุ้น’ สิริญาดา ปรัญญากาญจน เจ้าของตำแหน่ง Misster Deaf Gay Thailand 2021 ที่ชีวิตต้องเผชิญกับคำว่า ‘บูลลี่’ มาตั้งแต่เด็ก ด้วยรูปร่างที่อ้วน ไม่ตรงจริตหรือแบบฉบับนางงาม ที่ผ่านมา คำดูถูกต่าง ๆ นานา จึงลอยผ่านมาได้ยินเสมอ
แน่นอนว่า ‘บุ้น’ มีความรักกับหนุ่มต่างชาติ แต่ทว่า กลับไม่สามารถแต่งงานได้ เพราะไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ นั่นจึงเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตคู่
“รัฐบาลต้องช่วยประชาชน ช่วยกลุ่ม LGBTIQ ให้สามารถแต่งงานหรือจดทะเบียนสมรสอย่างถูกกฎหมายได้ ขอโอกาสให้กลุ่มของเรา” บุ้น สิริญาดา เรียกร้อง และว่า ขอให้ดูตัวอย่างประเทศอื่น ๆ ที่มีการเปิดโอกาสให้สมรสเท่าเทียมกันได้
นั่นไม่เท่าไหร่ เธอบอกว่า กลุ่ม LGBTIQ ปกติ ที่มุ่งต้องการสมรสเท่าเทียม ยังลำบากแล้ว ขอให้ลองหันมามองกลุ่มพวกเธอดูสิ! นอกจากจะเป็น LGBTIQ ซึ่งถูกตีตราทางอ้อมในสังคมไทย ยังพิการหูหนวก หูตึงอีก ยิ่งทำให้ถูกบูลลี่ตีตรา จำกัดสิทธิเสรีภาพ มากขึ้นไปอีก
“คนพิการทุกประเภทที่เป็นกลุ่ม LGBTIQ เหมือนกัน เขาก็เป็นคน มีชีวิตจิตใจ และความรู้สึก ดังนั้น สำคัญที่สุด คือ การให้กำลังใจ และที่เห็นโดยส่วนใหญ่ ถ้าเพศชายหญิงแต่งงานได้ คนพิการชายหญิงแต่งงานได้ กลุ่ม LGBTIQ ทุกกลุ่มชนชั้นก็ต้องแต่งงานได้” เธอสะท้อน
บุ้น เชื่อมั่นว่า การแก้ไขหรือเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาจะช่วยให้การดำเนินชีวิตง่ายขึ้น เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิความเท่าเทียมของกลุ่มหลากหลายทางเพศ เพียงแค่รัฐบาลใส่ใจและให้ความสำคัญ สิ่งที่พวกเราคาดหวังก็เกิดขึ้นได้ไม่อยาก สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ผู้นำประเทศว่าจะมองเห็นปัญหาเหล่านี้หรือไม่
ต่างประเทศเดินหน้า กม.สมรสเท่าเทียมอย่างไร
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไป มีคดีประวัติศาสตร์ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อต้นปี 2564 ศาลแขวงเมืองซัปโปโรตัดสินคดีการไม่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ถือเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นว่า คำตัดสินดังกล่าวช่วยเปิดทางให้กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศใช้ชีวิตคู่อย่างถูกกฎหมายได้ และเป็นแนวทางในการตัดสินในอนาคต
ขณะที่ปัจจุบันมี 29 ประเทศที่อนุญาตให้เพศเดียวกันแต่งงานได้ตามกฎหมาย ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ เยอรมนี เบลเยียม โปรตุเกส อุรุกวัย กรีนแลนด์ ออสเตรเลีย สเปน ไอซ์แลนด์ นิวซีแลนด์ โคลอมเบีย แคนาดา อาร์เจนตินา สหราชอาณาจักร ฟินแลนด์ แอฟริกาใต้ เดนมาร์ก ลักเซมเบิร์ก หมู่เกาะแฟไร นอร์เวย์ บราซิล สหรัฐอเมริกา มอลตา ออสเตรีย ไต้หวัน คอสตาริกา
โดยในทวีปเอเชีย มีเฉพาะ ‘ไต้หวัน’ เท่านั้น ที่อนุญาต ส่วน ‘ไทย’ แน่นอนแล้วว่า ณ วินาทีนี้ยังไม่อนุญาต แต่อนาคตก็คาดหวังว่าจะได้รับสิทธินี้เช่นกัน .