'หมอชลน่าน' มั่นใจพิจารณาร่าง กม.ลูกรองรับเลือกตั้ง 2 ฉบับ แล้วเสร็จภายใน ก.พ. -ช้าสุดไม่เกิน พ.ค.65 ยังคงหลักการลงคะแนนไพรมารี่โหวต

 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการพิจารณากฎหมายลูกเลือกตั้ง 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จะเป็นการพิจารณาร่วมกันของสมาชิกรัฐสภาคือ ส.ส.และ ส.ว. คาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณา 5 ร่าง คือร่าง ครม.-ร่างเพื่อไทย-ร่างพรรคร่วมรัฐบาล-ร่างพรรคก้าวไกล-และร่างพรรคประชาชาติ ซึ่งในวาระพิจารณารับหลักการ ต้องติดตามว่าสมาชิกจะรับหลักการ ร่างทุกฉบับหรือไม่ หรือจะรับรวมทุกร่างฯ หรือจะแยกรับ แต่ส่วนใหญ่แล้วร่างที่หลักการใกล้เคียงกันน่าจะรับไปทั้งหมด ยกเว้นบางร่างที่มีหลักการที่ย้อนแย้งสุ่มเสี่ยงขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ คาดว่ารัฐสภาอาจจะไม่รับหลักการ

โดยจะพิจารณา เช่น กรณีการแก้ไขเรื่องการทำไพรมารี่โหวต ซึ่งจะต้องไปดูวิธีการ บทบัญญัติว่าแก้อย่างไร โดยพรรคเพื่อไทยเสนอให้คงหลักการว่ามีการทำไพรมารี่โหวตหรือการโหวตเลือกผู้สมัครขั้นต้นของสมาชิก แต่ไม่จำเป็นต้องมีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดทุกเขตเลือกตั้ง โดยเปิดให้สาขาพรรคการเมืองดำเนินการทำไพรมารี่โหวตได้ ซึ่งจะแตกต่างจากร่างของพรรคร่วมรัฐบาล และต้องไปดูในรายละเอียดว่าจะมีแนวทางการให้ความเห็นชอบอย่างไร แต่หลักการใหญ่คือยังต้องคงการทำไพรมารี่โหวตโดยการลงคะแนน เนื่องจากเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

สำหรับไทม์ไลน์การพิจารณากฎหมายลูก ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งสามารถทำให้เสร็จเร็วได้ เช่น เมื่อผ่านวาระที่ 1 เข้าสู่วาระที่ 2 การพิจารณาชั้นกรรมาธิการ อาจจะมีการเพิ่มวันเวลาทำงานในช่วงปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรเดือน มี.ค.และ เม.ย. เพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จ

จากนั้นเมื่อเปิดสมัยประชุมครั้งต่อไปนำเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2-3 เชื่อว่าจะแล้วเสร็จก่อนเดือน ก.ค.2565 หรืออย่างช้าคือเดือน พ.ค.2565 หากจะพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็วคาดว่าภายในช่วงปลายเดือน ก.พ.2565 ก็สามารถดำเนินการได้

หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยังกล่าวถึงท่าทีของพรรคเพื่อไทยในการพิจารณารับหลักการร่างกฎหมายลูกของพรรคร่วมฝ่ายค้าน อย่างร่างของพรรคก้าวไกล ที่มีการยกเลิกอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการสั่งยุบพรรค หรือการเพิ่มบทกำหนดโทษ กกต. กรณีความรับผิดในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะพิจารณาว่าหลักการแก้ของแต่ละร่างจะเป็นประโยชน์ต่อพรรคการเมืองหรือไม่ ในการพิจารณา โดยไม่ได้ตั้งธงว่าจะรับหรือไม่รับ