มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับไบโอไทย เครือข่ายเกษตร ตีแผ่สาเหตุผู้บริโภคไทยต้องซื้อหมูราคาแพง ชี้เกิดจากการรวมศูนย์ผลิตเนื้อสัตว์ ปิดข่าวโรคระบาด หวังอุ้มนายทุนส่งออก เกษตรกรเลี้ยงลดลง เหตุแบกรับความเสี่ยงไม่ไหว เสนอแก้ไขปัญหาระยะยาว ให้รัฐสนับสนุนส่งเสริมการผลิตขนาดเล็ก กระจายตัวให้เกิดการเชื่อมโยงอาหารในระดับท้องถิ่น
จากกรณีที่เนื้อหมูมีราคาแพง และขาดตลาดมาตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค. 2564 ทำให้ร้านค้า ร้านอาหาร ปรับขึ้นราคาอาหารที่มีเนื้อหมูเป็นส่วนประกอบประมาณ 5-15 บาท และอาจขยับขึ้นอีกครั้งในช่วงตรุษจีน ส่งผลกระทบกับค่าใช้จ่ายประจำวันของผู้บริโภคอย่างมาก ทำให้สังคมต้องการทราบสาเหตุของการขึ้นราคาเนื้อหมูจนสูงเกินครึ่งของค่าแรงขั้นต่ำ
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวว่า ราคาหมูในระดับโลกไม่ได้สูงขึ้น ตามดัชนีขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ตรงกันข้ามราคากลับมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ประเทศที่ราคาเนื้อหมูสูงขึ้นมีแค่สหรัฐอเมริกาและไทย ในสหรัฐฯ ราคาต้นทุนไม่ได้เพิ่ม แต่ราคาหมูกลับแพงขึ้น แต่ถ้าเทียบกับค่าครองชีพของไทยแล้วก็ยังต่ำกว่า ราคาในไทยอยู่ที่กก.ละ 200 บาท ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำในเขตกรุงเทพฯ คือ 331 บาท จึงเป็นการจ่ายค่าอาหารในสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับสหรัฐแล้ว ไทยจ่ายแพงกว่าเกือบ 5 เท่าตัว
สาเหตุของปัญหาหมูแพงในสหรัฐ ทำเนียบขาววิเคราะห์ว่าเกิดจากการรวมศูนย์ของบริษัทผลิตเนื้อสัตว์ในสหรัฐ ซึ่งมีอยู่ 3-4 บริษัท เป็นผู้กำหนดราคาเนื้อหมูในแผงและร้านค้าปลีก เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์จากราคาหมูที่เพิ่มขึ้น กรณีในประเทศไทยคล้ายกับในสหรัฐ แต่หนักกว่า การรวมศูนย์ของอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ ทั้งในหมู ไก่ และไข่ อยู่ในมือของบริษัทขนาดใหญ่แทบตลอดห่วงโซ่การผลิต ครอบคลุมการผลิตอาหารสัตว์ และการกระจายตลาด คือ จุดจำหน่าย บริษัทใหญ่แห่งเดียวนี้มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 1 ใน 3 ของประเทศ โครงสร้างนี้ทำให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ได้ประโยชน์ แต่เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์จากราคาหมูที่แพงขึ้นเลย
รากฐานของปัญหาเนื้อหมูราคาแพงและขาดแคลนในไทย ประมวลจากการให้สัมภาษณ์ของเกษตรกร ปัจจัยที่ 1 คือ ปริมาณหมูหายไปจากตลาด ซึ่งเกิดจาก
1) ปริมาณหมูที่เลี้ยงลดลงไปประมาณร้อยละ 50-70
เนื่องจากโรคระบาดหมูที่เรียกว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF (African Swine Fever) โรคนี้แพร่กระจายในเอเชีย ขณะที่ประเทศรอบข้างทั้งหมดพบการระบาดของโรค แต่ในประเทศไทยกลับไม่มีรายงานการระบาดหรือการยอมรับการระบาดของโรคนี้เลย กรมปศุสัตว์ชี้แจงว่าโรคที่เกิดขึ้นเป็นโรคเพิร์ส หรือ PRRS ไม่ใช่โรคอหิวาต์แอฟริกา ขณะที่อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติระบุว่า โรคอหิวาต์แอฟริกานี้เกิดขึ้นตั้งแต่ 3 ปีก่อน และมีความพยายามที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลนี้ เพื่อเอื้อการส่งออกของผู้ประกอบการบางราย ประเทศที่ไม่ยอมรับการระบาดของโรคภายในประเทศจึงมีโอกาสในการส่งออกหมู ซึ่งเป็นสาเหตุที่
2) ไทยส่งออกเนื้อหมูเป็นจำนวนมาก
ทั้งเนื้อหมูและแม่พันธุ์หมู ทำให้หมูปริมาณลดลง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาส่งออกหมู 3 ถึง 4 เท่าตัวของการส่งออก เป็นปีทองของผู้ส่งออกเนื้อหมูบริษัทใหญ่ของไทย มีกำไรพุ่งขึ้นมหาศาล ปัจจัยที่ 2 การรวมศูนย์ของการผลิตเนื้อสัตว์ เมื่อเกิดโรคระบาด เกษตรกรรายย่อยจะล้มหายไป จากตัวเลขของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เกษตรกรที่เลี้ยงหมูเมื่อ 4-5 ปีก่อนมีประมาณ 150,000 ราย แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 80,000 ราย การเลี้ยงหมูที่ยังอยู่กลายเป็นรวมศูนย์ผู้ผลิตรายใหญ่มากกว่ารายย่อย เมื่อเจอภาวะโรคระบาดก็จะล้มละลายไป ที่อยู่ได้คือผู้ที่มีสายป่านใหญ่ และได้โอกาสของผู้ที่ส่งออกได้จากการเจอโรคระบาด
การปิดข่าวโรคระบาดหมู มีเพียงไม่กี่บริษัทที่ได้ประโยชน์ แต่คนในประเทศต้องกินหมูราคาแพงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกับการปกปิดโรคไข้หวัดนก เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่การปิดข่าวหลายเดือนส่งผลให้ไก่ตายเป็นจำนวนมาก ต่างประเทศยุติการนำเข้าไก่ แม้กระทั่งไก่สุก ต้องใช้เวลาฟื้นตัวพอสมควร
นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า บริษัทใหญ่ใช้วิธีผลักภาระความเสี่ยงในการตายและติดโรคของหมูไปให้เกษตรกรแบกรับ เนื่องจากหมูจำนวนมากผลิตในระบบเกษตรพันธสัญญา (contract farming) ที่ให้รับแม่พันธุ์จากบริษัทไปผลิตลูก หรือรับลูกหมูน้ำหนักเฉลี่ยตัวละ 6 กก. ไปเลี้ยง เมื่อหมูน้ำหนัก 80-100 กก. ต้องนำมาขายให้บริษัท บริษัทก็จะจ่ายค่าตอบแทนให้ตามน้ำหนักหมู แต่เมื่อหมูตายจากโรคระบาดติดโรคแล้ว เกษตรกรต้องยอมให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทำลายทั้งหมด มีกรณีที่เกษตรกรต้องทำลายหมูทั้ง 60 ตัวที่เลี้ยงไว้ เพราะถ้าหมูตายตามธรรมชาติเกษตรกรจะไม่ได้อะไรเลย แต่ถ้ายอมให้ปศุสัตว์ทำลาย อาจจะได้เงินชดเชยบางส่วน แต่ท้ายที่สุดเมื่อได้ค่าตอบแทนต่ำลง เกษตรกรก็แบกรับไม่ไหว ล้มเลิกไปในที่สุด ระบบนี้เป็นความสัมพันธ์ของการผลิตที่ไม่เป็นธรรม เพราะเกษตรกรต้องเผชิญความเสี่ยงกับอัตราการตายจากโรคระบาดของหมูอยู่ฝ่ายเดียว เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกับผู้บริโภคปลายทางจะเป็นผู้แบกรับ แต่บริษัทใหญ่ไม่ได้เสี่ยงอะไรเลย
บริษัทใหญ่ผูกขาดในอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อหมู ควบคุมตั้งแต่พันธุกรรม ปัจจัยการผลิต อาหาร ยาเวชภัณฑ์ และจัดการตลาดหมู ตั้งแต่ขายหมูมีชีวิตให้กับเขียงหมูเอกชน ประชาชนทั่วไปตามอำเภอ แล้วบริษัทก็ทำโรงเชือด โรงตัดแต่งเนื้อหมู ป้อนเนื้อหมูออกสู่ตลาด ไปจนถึงทำร้านขายปลีกเนื้อหมู อีกทั้งยังสามารถจัดสรรทรัพยากรในระดับโลก เมื่อเห็นว่าหมูในประเทศมีปัญหา ก็เข้าไปครอบครองการผลิตเนื้อหมูในต่างประเทศที่ได้เปรียบ หรือนำหมูของบริษัทที่อยู่ต่างประเทศเข้ามาขาย ถือความได้เปรียบตลอดเวลา นำมาซึ่งการทำลายผู้เลี้ยงหมูรายย่อย
“ไม่ว่าจะค้าหมูหรือกินเนื้อหมูที่ไหน ก็อยู่ภายใต้สายพานที่บริษัทใหญ่ควบคุมอยู่โดยส่วนใหญ่ ประเทศเราเป็นอย่างนั้นไปแล้ว” นายอุบลกล่าว
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เสนอการแก้ไขปัญหาในระยะยาวว่ารัฐควรสนับสนุนส่งเสริมการผลิตขนาดเล็กให้กระจายตัว ให้เกิดการเชื่อมโยงอาหารในระดับท้องถิ่น สร้างสายพานอาหารการบริโภคแบบสั้นๆ ในท้องถิ่นที่หลากหลาย แล้วก็กระจายตัวตามวัฒนธรรม ทรัพยากรชีวภาพของท้องถิ่น เพื่อความมั่นคงภายใน เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ และความปลอดภัย แต่ถ้าเป็นจังหวัดใหญ่ที่มีคนจากทั่วโลกมาเที่ยว ก็ควรมีระบบอาหารที่หล่อเลี้ยงตัวเองภายในพอสมควร ให้หมูกินพืชที่ปลูกในท้องถิ่นเป็นเนื้อหมูที่นำมาบริโภค รวมกับสายพานอาหารขนาดใหญ่ที่จะขนหมูจากราชบุรี นครปฐม ไปชำแหละที่นั่น เพื่อรองรับการท่องเที่ยวและการบริโภคแบบอุตสาหกรรม
นางสาวกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า ไม่ว่าเนื้อหมูจะแพงด้วยสาเหตุอะไร สุดท้ายผู้บริโภคก็เป็นผู้รับชะตากรรมที่ต้องซื้อของแพง เพราะอาหารเป็นปัจจัยสี่ เนื้อหมูเป็นสินค้าที่จำเป็น ครั้งนี้แน่นอนว่าสาเหตุหนึ่งคือโรคระบาด แต่อีกส่วนหนึ่งคือการผูกขาดแบบครบวงจรของทุนใหญ่ ตั้งแต่ห่วงโซ่การผลิต จนถึงการจัดจำหน่าย ซึ่งสามารถกำหนดและควบคุมได้ทั้งหมด จะส่งออกเท่าไหร่ เหลือจำหน่วยในประเทศเท่าไหร่ เมื่อของมีน้อยแต่ความต้องการมีมาก ราคาก็ต้องแพง ราคาเท่าไหร่ก็ต้องยอมรับ และอย่าแนะนำให้ไปกินอย่างอื่นแทน เพราะแต่ละคนมีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน บางคนมีปัญหาเรื่องระบบย่อยอาหาร บางคนไม่ทานเนื้อวัว บางคนไม่ทานเนื้อไก่ที่อาจปนเปื้อนเชื้อดื้อยาหรือมีปัญหาสุขภาพ และที่สำคัญคือผู้บริโภคมีสิทธิ์เลือก
ส่วนการแก้ปัญหานั้น รัฐควรส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย เพื่อกระจายการผลิตได้อย่างทั่วถึง และเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ลดปัญหาการผูกขาด ป้องกันปัญหาสินค้าขาดตลาดและมีราคาแพง
@เเม่พันธุ์สุกรลด อีกสาเหตุเนื้อหมูไม่เพียงพอบริโภคในประเทศ
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมเพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถานการณ์การผลิตและการตลาดสุกรในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน พร้อมสนับสนุนผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย รายเล็กภาคเหนือตอนบน ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน จ.เชียงใหม่ เชียงราย น่าน แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา และนายสัตว์แพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หัวหน้าส่วนราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้นำภาคประชาชน สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ ตลอดจนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือเข้าร่วม
รมช.ประภัตร เปิดเผยว่า จากการสำรวจและเก็บสถิติของกรมปศุสัตว์ ในปี 2563 พบว่าประเทศไทยมีแม่พันธุ์สุกร ประมาณ 1 ล้านตัว สามารถผลิตสุกรขุนออกสู่ตลาดได้ถึง 20 ล้านตัวต่อปี แต่ในปี 2564 พบว่าจำนวนแม่พันธุ์สุกรลดลง เหลือเพียงประมาณ 900,000 ตัว โดยมีสุกรขุนที่ผ่านโรงเชือดในประเทศประมาณ 18 ล้านตัว และส่งออกนอกประเทศ 1 ล้านตัว ซึ่งมาจากผู้ประกอบการ 190,000 ราย แบ่งเป็นรายย่อย 185,000 ราย มีสุกรประมาณ ร้อยละ 30 ของประเทศ ในขณะที่รายกลาง และรายใหญ่ 4,000 - 5,000 ราย มีปริมาณการเลี้ยงสุกร ร้อยละ 70 ของประเทศ
การที่ปริมาณแม่พันธุ์สุกรในประเทศลดลง จึงทำให้ผลผลิตลูกสุกรขุน และเนื้อสุกรสดมีแนวโน้มไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ ราคาเนื้อสุกรจึงปรับตัวสูงขึ้นในระยะนี้
ทั้งนี้ จากการสำรวจของกรมปศุสัตว์ พบว่า พื้นที่ภาคเหนือมีผู้เลี้ยงรายเล็ก รายย่อยกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ประมาณ 70,000 ราย และมีความเหมาะสมในการสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ซึ่งผ่านการประเมินความเสี่ยงแล้ว กลับมาเลี้ยงสุกรได้อีกครั้ง ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของกรมปศุสัตว์
ภายหลังการหารือร่วมกัน รมช.ประภัตร ได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ให้หน่วยงานของทางจังหวัดเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรในพื้นที่ และสั่งการไปยังกรมปศุสัตว์ให้เข้าไปประเมินความเสี่ยงของพื้นที่อย่างละเอียด เพื่อจัดให้เป็นพื้นที่เป้าหมายในการส่งเสริม สนับสนุนการเลี้ยงสุกร รวมถึงให้หน่วยงานปศุสัตว์ในพื้นที่ เร่งทำการสำรวจเกษตรกรที่ต้องการกลับมาเลี้ยงใหม่ และเกษตรกรที่เลี้ยงอยู่เดิม เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรด้านปศุสัตว์ โดยคาดว่าจะสามารถเก็บข้อมูลได้ครบถ้วน และพร้อมเริ่มสนับสนุนได้ทันทีภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้
สำหรับพันธ์ุสุกรที่จะนำมาสนับสนุนให้กับผู้เลี้ยงรายเล็ก รายย่อยนั้น จะเร่งจัดหามาจากศูนย์วิจัยของกรมปศุสัตว์ เครือข่ายสัตว์พันธ์ุดีของกรมปศุสัตว์ ซึ่งมีแม่พันธ์ุอยู่ประมาณ 5,000 ตัว และยังได้มีการเจรจาขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการรายใหญ่ มหาวิทยาลัยต่างๆ และวิทยาลัยเกษตรทั่วประเทศ ในการช่วยผลิตลูกสุกร นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของบริษัทไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด บริษัทหมูอินเตอร์ฟาร์ม จำกัด ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยสนับสนุนเกษตรกรรายเล็ก รายย่อย ทางภาคเหนือ โดยกรมปศุสัตว์จะจัดสรรให้ผู้เลี้ยงรายเล็ก รายย่อยที่สนใจ รายใดต้องการเลี้ยงแม่พันธุ์ จะจัดหาแม่พันธุ์ 2 ตัว รายใดต้องการลูกสุกรขุน จะจัดให้รายละ 20 ตัว หรือตามความเหมาะสม พร้อมอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ยารักษาโรค โดยให้ปศุสัตว์ในพื้นที่เข้าไปดูแลเรื่องโรคระบาด และเเนะนำการยกระดับและปรับปรุงระบบการเลี้ยงภายใต้มาตรฐานฟาร์มแบบ Good Farming Management (GFM) "ฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม" สำหรับในส่วนของเรื่องเงินทุน จะใช้แหล่งเงินกู้จากธนาคาร ธ.ก.ส. ภายใต้ “โครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร” เข้ามาสนับสนุน เพื่อใช้เป็นต้นทุนในการดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม รมช.ประภัตร ยังได้รับข้อเสนอของเกษตรกรรายเล็ก รายย่อยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน กรณีมีหนี้เดิมกับธนาคาร ธ.ก.ส.อยู่แล้ว และเกิดความเสียหายจากโรคระบาด หรือสาธารณภัย ที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ต้องการเข้าร่วมโครงการ ธนาคารธ.ก.ส. ก็จะพิจารณาตามความเหมาะสม โดยจะพิจารณาลดดอกเบี้ยหนี้เดิม พักชำระหนี้เดิม หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่ เพื่อแผนการชำระหนี้ระยะยาวให้เกษตรกร ซึ่งต้องเป็นไปตามข้อตกลงและการพิจารณาของธนาคาร ธ.ก.ส.