กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงอาการของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่ง 100 รายแรกที่ติดเชื้อ พบว่ามีอาการเพียง 41 ราย และไม่มีอาการอีก 59 ราย โดยมี 8 อาการที่พบบ่อย แบ่งเป็น (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ม.ค.2565)
1. ไอ 54%
2. เจ็บคอ 37%
3. มีไข้สูงมากกว่า 37.5 องศา 29%
4. ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย 15%
5. มีน้ำมูก 12%
6. ปวดศีรษะ 10%
7. หายใจลำบาก 5%
8. ได้กลิ่นลดลง 2%
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกมาเตือนให้ประชาชนทั่วโลกอย่าวางใจ แม้ว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ลักษณะเหมือนจะมีความรุนแรงน้อยกว่าไวรัสกลายพันธุ์เดลตา แต่ไม่ควรมองว่าเชื้อดังกล่าวจะอาการไม่รุนแรง
โดยผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าอัตราความเสี่ยงที่ผู้ติดเชื้อโอมิครอน จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่ำกว่าเชื้อกลายพันธุ์ตัวอื่นที่เคยมีมา และยังพบว่าอาการป่วยของกลุ่มวัยรุ่นและผู้สูงอายุดูจะมีความรุนแรงน้อยลง แต่ยังคงมีการศึกษาลงลึกในรายละเอียดมากกว่านี้เนื่องจากข้อมูลที่มีส่วนใหญ่เป็นการเก็บข้อมูลจากกลุ่มคนอายุน้อยเสียเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ สายพันธุ์โอมิครอน ยังทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก
ส่วนไข้หวัด ฟลูโรนา (Flurona) หรือการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ (Influenza) และเชื้อไวรัสโคโรนา (Corona) ในคนเดียวกันนั้น เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า ประเทศไทยยังไม่พบผู้ติดเชื้อในลักษณะดังกล่าว ขณะนี้ยังไม่มีนัยสำคัญอะไรที่ทำให้ต้องวิตกกังวล ซึ่งฟลูโรนาเป็นชื่อที่มาจากฟลู คือ ไข้หวัดใหญ่ และโคโรนา คือ โควิด-19 เชื้อทั้งสอง เป็นไวรัสทั้งคู่ แต่เป็นไวรัสคนละตระกูลกัน แต่ทำให้เกิดอาการคล้ายคลึงกัน คือ มีอาการทางเดินหายใจ เช่น เป็นหวัด คัดจมูก อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว คนที่มีอาการรุนแรงจะทำให้ปอดอักเสบ และอาจเสียชีวิตจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลว หรืออวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว ซึ่งอาการของฟลูโรนาเท่าที่มีการรายงานในปัจจุบัน ยังไม่มีอะไรแตกต่างจากโควิดทั่วไป โอกาสติดเชื้อทั้ง 2 ตัวพร้อมกันค่อนข้างน้อย จำนวนผู้ป่วยที่พบยังมีจำนวนน้อย ขณะนี้มีข้อมูลรายงานการตรวจพบในอิสราเอล บราซิล ฮังการี และฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความเป็นไปได้ที่จะพบผู้ติดเชื้อไวรัสทั้งสองชนิดพร้อมกัน แต่จะผสมพันธุ์กันจนเกิดเป็นไฮบริดไม่ได้