ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการ ตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษ

 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีข้อสั่งการเกี่ยวกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษ ดังนี้

ตามที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 337/2564 ลงวันที่ 16 ธ.ค. 2264 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษ (คณะกรรมการ) ขึ้นดำเนินการตรวจสอบการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวและเสนอแนะแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมนั้น

คณะกรรมการได้รายงานผลการตรวจสอบและมีข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีภายในระยะเวลาที่กำหนด สรุปความได้ว่า การขอพระราชทานอภัยโทษทุกครั้งที่ผ่านมาดำเนินการตามแนวทางเดียวกัน อย่างไรก็ดี ได้มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรม รับไปดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการอภัยโทษ การเว้นช่วงเวลาในการอภัยโทษ การกำหนดสัดส่วนการลดโทษ การกำหนดระยะเวลาปลอดภัย การกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการอภัยโทษเฉพาะสำหรับฐานความผิดบางฐาน รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ

นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงยุติธรรมรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการไปพิจารณาดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อให้การขอพระราชทานอภัยโทษในวโรกาสสำคัญที่จะมีขึ้นต่อไป เป็นไปโดยปราศจากข้อห่วงกังวลของสาธารณชน ในกรณีต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติราชทัณฑ์หรือกฎระเบียบใดให้เป็นไปตามหลักการนี้ก็ขอให้เสนอมาด้วย และได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาเพิ่มเติมในประเด็นดังต่อไปนี้ด้วย

1. ผู้อยู่ในข่ายจะได้รับการเสนอชื่อเพื่อขอรับพระราชทานอภัยโทษควรต้องให้ความสำคัญแก่ทัศนคติหรือความสำนึกผิดชอบชั่วดีในความผิดที่ตนได้กระทำลง และการกระตือรือร้นเต็มใจจะกลับตนเป็นพลเมืองดีของสังคมมากกว่าการเป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อยหรือไม่ก่อความวุ่นวายในระหว่างต้องโทษซึ่งโดยปกติผู้ต้องโทษต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับผู้ต้องโทษอยู่แล้ว ซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป และบุคคลดังกล่าวควรต้องรับโทษตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และสัดส่วนการลดโทษนั้น ควรเสนอลดโทษไม่เกิน 1 ใน 4 ทั้งนี้ เพื่อให้การลงโทษอาญาแก่ผู้กระทำความผิดเป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลักการลงโทษอาญาที่เป็นสากล และเพื่อรักษาความปลอดภัยของสังคม

2. ปรับปรุงกระบวนการจัดชั้นและเลื่อนชั้นนักโทษ การตรวจสอบรายชื่อ รวมทั้งพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความสำนึกผิดชอบชั่วดีของผู้จะเสนอชื่อ เพื่อรับพระราชทานอภัยโทษ โดยให้พนักงานอัยการหรือศาลเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินพฤติกรรมและให้ความเห็นประกอบด้วย

3. ให้กระทรวงยุติธรรม/กรมราชทัณฑ์ นำเสนอแนวปฏิบัติ/ปรับปรุงกฎระเบียบตามข้อ 1, 2 นำเสนอให้ นายกรัฐมนตรี/คณะรัฐมนตรี ทราบโดยเร็วที่สุด ให้มีความพร้อมดำเนินการ อย่างมีประสิทธิภาพ รัดกุม รอบคอบ และโปร่งใส เพื่อไม่ให้เกิดเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นในสังคมเหมือนอย่างที่ผ่านมาเป็นอันขาด