พีมูฟเคลื่อนขบวนยื่นหนังสือถึง 'บิ๊กป้อม' ติดตามการเเก้ไขปัญหาจากรัฐบาล โฉนดชุมชน -ที่ดินรถไฟ-กลุ่มชาติพันธุ์ หวังเป็นหลักประกันเเนวทางชัดเจน

 

วันที่ 20 ม.ค. 2565 นายจำนงค์  หนูพันธ์ุ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) นำชาวบ้านเดินขบวนไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานกรรมการเเก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เรื่อง แนวทางและข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

โดยตอนหนึ่งของหนังสือ ระบุ ณ วันนี้ ขปส. ได้เดินทางมาติดตามการแก้ไขปัญหากับรัฐบาล เพื่อให้เกิดหลักประกันและแนวทางการดำเนินทางที่ชัดเจนในทุกเรื่องทุกกรณี โดยมีข้อเรียกร้องมายังท่าน ดังต่อไปนี้

1.ให้ท่านยืนยันในการยกระดับการจัดการทรัพยากรที่ดินในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ตามข้อเสนอของขปส.ซึ่งได้รับการคุ้มครองพื้นที่ 486 ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลนี้ ให้เป็นหนึ่งในรูปแบบการกำกับดูแลการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินโดยทั่วไป ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.) มาตรา 10 (4) ที่บัญญัติว่า “กำหนดมาตรการหรือแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ซึ่งรวมถึงรูปแบบการจัดที่ดินในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ หรือรูปแบบในลักษณะอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ คทช.กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด” และขอให้ สำนักงาน คทช.รับพื้นที่โฉนดชุมชนจำนวน 486 ชุมชนที่ยื่นไว้ เพื่อไปตรวจสอบสถานะและความพร้อมเพื่อดำเนินการต่อไป โดยเริ่มจากพื้นที่สมาชิก ขปส.ที่เสนอเป็นพื้นที่การจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนอยู่แล้ว 186 กรณี โดยให้นำผลการประชุมกรณีโฉนดชุมชนตามข้อเสนอข้างต้นเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ

ทั้งนี้ เพื่อสร้างหลักประกันในการสานต่อนโยบายโฉนดชุมชนของรัฐบาล ขปส. ขอให้รองนายกมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหา ขปส.มาเป็นประธานการจัดงาน “มหกรรมโฉนดชุมชน” ณ จ.ภูเก็ต โดยให้ทีมเลขานุการ่วมของรัฐบาลและ ขปส.ไปจัดประชุมเพื่อกำหนดเนื้อหา รูปแบบการจัดงาน กิจกรรม วันเวลา และสถานที่ ที่ชัดเจนร่วมกัน

2.ให้เร่งออกพระราชกฤษฎีกานิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวกับปัญหาไม้และที่ดินอันเกิดจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐ ตามร่างของกระทรวงยุติธรรมที่ผ่านการประชุมรับฟังความเห็น ขปส. ตามบันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในระหว่างรอการออกกฎหมายดังกล่าว ขอให้ยุติการดำเนินคดีชาวบ้านและเยียวยาประชาชนให้ได้รับความธรรมและให้กลับไปทำกินในที่ดินเดิมของตนเองได้

3.ให้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทบทวนเนื้อหาของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562  และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ให้สอคคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และให้ชะลอการเสนอร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีการดำเนินการตามข้อเสนอของ ขปส. และขอให้ยกเลิกคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) เนื่องจากไม่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่

4.กรณีการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้นำมติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2543 มาเป็นนโยบายการแก้ปัญหาชุมชนทั้ง 36 จังหวัด397 ชุมชน 39,848 หลังคาเรือน ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวต้องนำเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศให้เป็นนโยบายแห่งชาติในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่อยู่ในที่ดินของ รฟท. และกรณีการแก้ปัญหาชาวบ้านที่ถูก รฟท. ดำเนินคดี คือ ให้นำมติการประชุมร่วมกันในอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคมมาปฏิบัติ คือให้ รฟท. ดำเนินการให้ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีเช่าที่ดิน รฟท. แบบชั่วคราว (สัญญา 1 ปี) เพื่อให้สิ้นสุดคดีความ โดยอัตราค่าเช่าที่ดินแบบชั่วคราวเป็นอัตราราคาถูก 20บาทต่อตารางเมตรต่อปี โดยด่วน หากยังไม่สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว ให้ทางอนาบาล ของ รฟท. ได้ไปแถลงต่อศาลถึงแนวปฏิบัติข้างต้นที่ รฟท. จะดำเนินการให้กับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีก่อนเบื้องต้น

5.ขอให้นายกรัฐมนตรี ให้คำรับรอง ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ.....(ฉบับประชาชน 16,559 รายชื่อเข้าชื่อเสนอกฎหมาย) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการคุ้มครองและปกป้องวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2562 ว่าจะกำหนดให้มีกฎหมาย “การส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านสังคมที่รัฐบาลประกาศว่าจะผลักดันให้มี “พระราชบัญญัติเขตส่งเสริมและคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์” ภายในปี 2564 โดยภายหลังประชาชนได้ยื่นรายชื่อเสนอกฎหมายต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 แล้ว สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือที่ สผ 0014/195 ลงวันที่ 14 ม.ค. 2565 เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ..... ความว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวินิจฉัยแล้วว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้เข้าลักษณะเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะได้นำส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ไปให้นายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้คำรับรองต่อไป ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 114ตามที่ส่งมาด้วย

6.ข้อเสนอต่อการปฏิรูปที่ดิน ตามกลไกสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) มีดังนี้

-ให้ บจธ. ต้องทบทวน ปรับปรุงคณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน และบทบาทการทำงานให้มีสัดส่วนของภาคประชาชน ในการมองวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ เป้าหมาย ในการที่จะเป็นสถาบันกลไกกลางในการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม อย่างมีส่วนร่วมยึดโยงกับภาคประชาชน ยึดตามหลักเจตนารมณ์การปฏิรูปที่ดินของชุมชน จากประชาชนผู้ริเริ่มและผลักดันให้เกิด สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) อันเป็นกลไกในการดำเนินการปฏิรูปที่ดิน ตามแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ที่ไม่ใช่ “ธนาคาร”หรือสถาบันทางการเงินที่แสวงหาผลกำไรจากเกษตรกรรายย่อย ผู้ยากไร้

- การพัฒนา สร้างนวัตกรรมรูปแบบกรรมสิทธิ์ในการจัดการที่ดินและถือครองที่ดินใหม่รูปแบบใหม่ๆ เช่น การถือครองที่ดิน ในรูปแบบโฉนดชุมชนภายใต้โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 5 พื้นที่ ให้เกิดรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างรัฐและองค์กรชุมชนในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรร่วมกัน

-บจธ. ควรจะต้อง พัฒนาช่องทาง กลไกในเข้าถึง ทั้งการสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย (กรณีเร่งด่วนในการเข้าถึงที่ดินและสูญเสียที่ดิน) อีกทั้งแหล่งทุนในการสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ผู้ยากไร้ ในการพัฒนาฐานคิดระบบ ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ที่จะช่วยเป็นทุนในการสนับสนุนให้ บจธ. เข้าถึงทุนจากอัตราการถือครองที่กินที่จำกัด นำไปสู่การกระจายที่ดินถึงคนยากไร้ให้สามารถเข้าถึงที่ดินได้

-ให้เร่งดำเนินการจัดซื้อที่ดินในพื้นที่ตามแผนงานระยะสองที่เป็นพื้นที่สมาชิกของ ขปส.

7.ขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ชุมชนในพื้นที่ของ ขปส.ที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา ทะเบียนบ้าน และที่อยู่อาศัย ได้

8.ขอให้ปรับปรุงองค์ประกอบคณะทำงาน 2 คณะ เนื่องจากประธานคณะทำงานฯ พ้นจากตำแหน่ง และขอให้เร่งรัดจัดการประชุมคณะทำงานฯ ดังกล่าว เป็นกรณีเร่งด่วน ดังรายละเอียดต่อไปนี้

-คณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ตามคำสั่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่ 2/2564 ลงวันที่ 30 เม.ย. 2564 

-คณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ตามคำสั่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่ 3/2564 ลงวันที่ 30 เม.ย. 2564

9.ข้อเรียกร้องกลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น ผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จ.ตาก

- ข้อเรียกร้องต่อการจ่ายค่าชดเชย นางกุลปรียา  เสนทา  ตามที่กรมที่ดินทำการรังวัดได้เนื้อที่ 10-2-04.1  ไร่ กรมธนารักษ์รังวัดได้เนื้อที่ 8-3-3.1 ไร่ ไม่เท่ากัน จึงทำให้ได้รับค่าชดเชยตามการรังวัดของกรมธนารักษ์เนื้อที่ 8-3-3.1 ไร่  ขอให้ตรวจสอบเนื้อที่ให้ถูกต้อง

-พื้นที่ของ นางบัวตอง เครือคำวัง เป็นพื้นที่ นส.3 มีเนื้อที่ 17-0-97 ไร่  และนางนภาภรณ์ มูลเจริญพร เป็นเนื้อที่ สค.1 มีเนื้อที่ 4 ไร่ ที่มีพื้นที่ติดกับแปลงการนิคมอุตสาหกรรมเช่า ขอให้ทางราชการจัดซื้อที่ดินดังกล่าวด้วยเนื่องจากพื้นที่ไม่มีทางเข้าออก

พื้นที่ของนางจุฑารัตน์ อุ่นเรือน เดิมได้มีการเวนคืนที่ดินไปแล้วและมีเนื้อที่ส่วนที่เหลือบางส่วนที่อาศัยอยู่ด้านในซึ่งไม่มีทางเข้า ออก จึงขอเส้นทางการเข้าออกเพื่อสัญจรเข้าออกที่พักอาศัย

เดิมในชุมชนมีบ่อทิ้งขยะในพื้นที่ จากการเวรคืนที่ดินทำให้ปัจจุบันชาวบ้านประสบปัญหาการทิ้งขยะ ข้อเรียกร้องต้องการให้ส่วนราชการเร่งหาเนื้อที่เพื่อรองรับขยะในชุมชน

จากที่มีการเวนคืนพื้นที่โดยกรมธนารักษ์ทำให้ชาวบ้านมีที่ดินไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพ ข้อเรียกร้องให้ทางราชการจัดหาที่ดินให้กับราษฎรจำนวน 5 ราย ขอชดเชยที่ดินรายละ 10 ไร่ เพื่อใช้ในการดำรงชีพต่อไป

10.ขอให้รัฐบาลสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินทุกประเภทที่ประชาชนได้รับผลกระทบให้มีแนวทางที่ชัดเจน เช่น ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินรถไฟ ที่ราชพัสดุ ที่ดินในเขตป่า ที่ สปก. และอื่นๆ

11. แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ กำกับ ขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและ กะเหรี่ยงตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2553 และ 3 ส.ค. 2553

12.กรณีชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ให้นายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยในทุกด้าน ตลอดจนให้ยุติกระบวนการทางคดีของชาวบ้าน 28 คน ชาวบ้านเยาวชน 2 คน และสมาชิกภาคีเซฟบางกลอย 10 คน

ประการสำคัญ ข้อเรียกร้องดังกล่าวข้างต้น ขปส. ขอให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะดูแลปัญหาที่เกี่ยวข้อง ได้เปิดการประชุมเพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยเร่งด่วนและหากได้ข้อยุติตามข้อเรียกร้องดังกล่าวแล้ว ให้นำผลเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยเร่งด่วนต่อไป