ผุดเเคมเปญรณรงค์ 'ทางม้าลายต้องปลอดภัย' ล่าสุด มีผู้ลงชื่อกว่า 1.8 หมื่น จี้หน่วยงานรัฐ ลงโทษผู้ฝ่าฝืนจริงจัง ปรับบทลงโทษ
สืบเนื่องจาก พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยกุล หรือหมอกระต่าย ประสบอุบัติเหตุถูกรถจักรยานยนต์ เฉี่ยวชนจนเสียชีวิต ขณะข้ามทางม้าลายนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการตั้งเเคมเปญรณรงค์ใน Change.org "ทุกชีวิตมีความหมาย ทางม้าลายต้องปลอดภัย" โดยตั้งเป้าหมายให้ได้ 25,000 รายชื่อ ซึ่ง ณ เวลา 11.16 น. ของวันที่ 29 ม.ค. 2565 มีผู้สนับสนุนเเล้ว 18,713 รายชื่อ
ทั้งนี้ เเคมเปญดังกล่าว มีข้อเสนอเรียกร้องไปยังหน่วยงานภาครัฐ ดังนี้
ทางม้าลายต้องปลอดภัย: รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกแบบทุกทางม้าลายเป็นทางข้ามที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน เช่น ทางข้ามมีความชัดเจนเห็นได้ในระยะไกล มีป้ายเตือนล่วงหน้าที่ชัดเจนให้ผู้ขับขี่รับรู้ว่าเป็นทางข้าม หากเป็นทางที่มีคนข้ามเป็นประจำหรือเป็นสถานที่สำคัญ เช่น โรงเรียน ต้องมีสัญญาณไฟจราจรรวมถึงมีปุ่มกดเพื่อขอข้าม มีกล้องวงจรปิดในบริเวณทางข้ามที่มักมีการกระทำผิดบ่อยเพื่อบันทึกผู้กระทำความผิดและลงโทษอย่างจริงจัง เป็นต้น
หยุดรถให้คนข้าม: รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเริ่มรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนเข้าใจความสำคัญของการหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย และให้ประชาชนทุกคนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นมาตรฐานที่ต้องปฏิบัติตามเป็นประจำ และทำการรณรงค์ต่อเนื่องเป็นประจำและสม่ำเสมอ
บังคับใช้กฎหมาย: รัฐและตำรวจต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมและลงโทษอย่างจริงจัง กรณีผู้ขับขี่ไม่ลดความเร็วขณะขับรถเข้าใกล้ทางม้าลาย และกรณีไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย
ออกกฎหมายใหม่: แยกเป็นมาตราใหม่ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก ที่กำหนดให้ชัดเจนว่ากรณีผู้ขับขี่ไม่ลดความเร็วรถขณะขับรถเข้าใกล้ทางม้าลาย และกรณีไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายมีความผิด และมีโทษอื่นนอกเหนือจากการปรับ เช่น ตัดคะแนน หรือบังคับให้เข้ารับการอบรม หรือ ยึดพาหนะ
ปรับบทลงโทษ: ออกกฎหมายเป็นมาตราใหม่ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก ที่กำหนดบทลงโทษอย่างรุนแรงกับผู้ขับขี่ที่ขับชนคนข้ามทางม้าลาย ในลักษณะคล้ายกรณีผู้ขับขี่เมาแล้วขับชนคนอื่นตามมาตรา 170 ตรี ของพระราชบัญญัติจราจรทางบก ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุก และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
เพราะอุบัติเหตุต่อคนข้ามทางม้าลายในไทยเป็นปัญหามานานและไม่เคยได้รับการแก้ไข ผู้ขับขี่มักไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร เพราะไม่ทราบว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความผิด หรือเห็นว่าโทษมีน้อย ดังนั้น รัฐจึงควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังร่วมกับแก้ไขกฎหมายและทำการรณรงค์สร้างจิตสำนึก เพื่อให้การข้ามทางม้าลายในไทยทำได้ง่ายเท่ากับนานาอารยประเทศที่ให้ความสำคัญกับคนเดินเท้ามากที่สุด
พวกเราอยากให้เหตุอันน่าเศร้าใจของคุณหมอกระต่าย เป็นแรงผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงของสังคมในเรื่องนี้ เราไม่อยากพบคนที่เสียชีวิตจากเหตุเดียวกันแบบนี้ในไทยอีก