สตง.เจอรอยรั่วโครงการเยียวยาเกษตรกรช่วงโควิด พบชาวบ้านไม่ได้รับเงินกว่า 2 แสนราย ชาวไร่อ้อยโดนทอดทิ้งกว่า 1.6 แสนคน เสียงบฯ โดยไม่สมควรกว่า 228 ล้านบาท ชี้สร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

 

ผู้สื่อข่าวช่อง 8 รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งเอกสารถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องรายละเอียดการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่ 2 ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

โดยโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อการช่วยเหลือ เยียวยาให้กับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและครอบครัว ให้มีรายได้เพื่อการดำรงชีวิตในช่วงภาวะวิกฤต โดยการจ่ายเงินช่วยเหลือโดยตรงรายละ 15,000 บาท ให้แก่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายไม่เกิน 10 ล้านราย รวมวงเงินของโครงการไม่เกิน 150,000 ล้านบาท

จากการตรวจสอบพบว่า ผลการดำเนินโครงการบางส่วนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กำหนด มีเกษตรกรที่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่โครงการกำหนด แต่ได้รับการช่วยเหลือจำนวนทั้งสิ้น 12,516 ราย แบ่งเป็น

  • เกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือไม่ได้ประกอบการเกษตร จำนวน 23 ราย รวมเป็นเงิน 285,000 บาท
  • เกษตรกรที่ได้รับเงินช่วยเหลือตามโครงการ แต่ไม่ได้ขึ้นหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรตามวันที่โครงการกำหนด จำนวนทั้งสิ้น 1,780 ราย รวมเป็นเงินกว่า 26 ล้านบาท
  • เกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือ แต่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการขึ้นทะเบียน หรือหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเพิ่มเติมของหน่วยงานรับขึ้นทะเบียนจำนวน 10,713 ราย เป็นเงินกว่า 160 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังมีเกษตรกรที่ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ หรือได้รับเงินช่วยเหลือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด แบ่งเป็น

  • เกษตรกรไม่ได้รับเงิน 15,000 บาท จำนวน 223,036 ราย
  • เกษตรกรที่ได้รับเงินต่ำกว่า 15,000 บาท จำนวน 18,455 ราย
  • เกษตรกรได้รับเงินมากกว่า 15,000 บาท จำนวน 521 ราย เป็นเงินที่ได้รับเกินสิทธิ จำนวน 2.7 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีบุคคลอื่นที่ได้รับเงินเยียวยา แต่ไม่ใช่บุคคลตามรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือตามโครงการ จำนวน 33 ราย และทุกรายได้รับเงินตามโครงการ จำนวน 15,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 495,000 บาท

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ยังตรวจพบอีกว่า การดำเนินโครงการยังไม่ทั่วถึงเกษตรกรผู้มีคุณสมบัติได้รับความช่วยเหลือ เนื่องจากมีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับบุคคลตามเงื่อนไขที่โครงการกำหนด แต่ไม่ได้รับสิทธิช่วยเหลือตามโครงการ จำนวน 165,819 ราย โดยเป็นบุคคลที่ยังคงมีสัญญาส่งอ้อยให้แก่โรงงานหรือหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยของ สอน. ในระหว่างปีการผลิต พ.ศ. 2560 - 2563 จำนวน 75,497 ราย

ขณะที่เงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติเกษตรกรที่ได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการ ยังไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขจำกัดสิทธิในการเข้าร่วมโครงการให้ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่รัฐทุกประเภท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 เนื่องจากได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการจากหน่วยงานของตนเองอยู่แล้ว แต่จำกัดสิทธิเฉพาะบุคคลที่ได้รับสิทธิสวัสดิการผ่านระบบข้าราชการของกรมบัญชีกลาง (ข้าราชการประจำและลูกจ้าง รวมถึงข้าราชการบำนาญ) เท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมถึงข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ข้าราชการตุลาการ, ข้าราชการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ, พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานองค์กรอื่นของรัฐที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการจ่ายตรงเงินเดือนและข้าราชการประจำของกรมบัญชีกลาง ซึ่งจากการตรวจสอบรัฐวิสาหกิจจำนวน 2 แห่ง พบว่ามีพนักงานและลูกจ้างได้รับเงินช่วยเหลือตามโครงการ จำนวน 2,625 ราย คิดเป็นเงินช่วยเหลือกว่า 39 ล้านบาท นอกจากนี้จากฐานข้อมูลเกษตรกรผู้ขอคืนสิทธิในการเข้าร่วมโครงการ จำนวน 382 ราย นั้นพบสาเหตุของการคืนสิทธิเนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวน 104 ราย

จากการที่ผลการดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กำหนด ส่งผลให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 บางส่วนไม่ได้รับการบรรเทาความเดือดร้อนของตนเองและครอบครัว เกิดการใช้จ่ายเงินงบประมาณไปโดยไม่สมควร จำนวนกว่า 228 ล้านบาท ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของคนในสังคมเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาดำเนินการดังนี้

  1. โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่มีลักษณะเดียวกันในอนาคตที่นำข้อมูลทะเบียนเกษตรกรมาใช้ในการดำเนินงาน
    • กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ ด้วยความละเอียด รอบคอบ รัดกุม คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมทั้งความครอบคลุม ทั่วถึง และเป็นธรรมแก่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย
    • ให้ความสำคัญกับความถูกต้อง ครบถ้วนของข้อมูลที่ใช้ในการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร กำหนดแนวปฏิบัติในการตรวจสอบยืนยันตัวตนและความถูกต้องคุณสมบัติของเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการให้ชัดเจนและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมทั้งซักซ้อมความเข้าใจและกำชับหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
    • กำหนดให้มีมาตรการหรือแนวทาง และวิธีการในการป้องกัน ติดตามตรวจสอบความถูกต้อง และความซ้ำซ้อนของข้อมูล รวมถึงจำนวนเงินตามสิทธิที่เกษตรกรควรได้รับ ก่อนการจ่ายเงินด้วยความละเอียดรอบคอบอย่างเป็นระบบ
    • กำหนดช่องทางสำหรับให้เกษตรกรติดต่อหรือแจ้งข้อมูลต่าง ๆ โดยคำนึงถึงความหลากหลายของเกษตรกรที่มีหลายช่วงอายุวัย ความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยี และความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี เพื่อให้เกษตรกรเป้าหมายได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง
  2. สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบ พบว่า เป็นการจ่ายเงินที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่โครงการกำหนด และร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในการดำเนินการตามแนวทางที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป
  3. ควรให้มีการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรให้เป็นฐานข้อมูลเดียวที่ทุกหน่วยงานสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ให้เกิดการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอื่นที่จำเป็น และแก้ไขปรับปรุงช่องทางการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้มีความหลากหลาย ทันสมัย และเข้าถึงได้ง่าย เพื่อความถูกต้อง เป็นปัจจุบัน และลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานรับขึ้นทะเบียนในระดับพื้นที่ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนพัฒนาและมาตรการทางการเกษตร บริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศการเกษตร และนำมาประกอบในการดำเนินโครงการในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป