ส.ว.สมชาย ชี้โพรง ยื่น ป.ป.ช.ฟันจริยธรรม ส.ส.ทำสภาล่ม เย้ยงานนี้หลุดเก้าอี้-เว้นวรรคการเมือง 10 ปี เป็นร้อยคน
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นกรณีปัญหาฝ่ายค้านขอตรวจสอบองค์ประชุมของรัฐบาล จนเกิดปัญหาสภาล่มบ่อยครั้ง ตอนหนึ่งว่าปัญหาสภาล่ม 17 ครั้ง แก้ไม่ยาก ไม่ต้องยุบสภา แต่ต้องแก้เด็ดขาด ถึงคราวประชาชนต้องจัดหนักจัดเต็ม
“หน้าที่ของสมาชิกสภาคือการเข้าประชุมเพื่อทำหน้าที่ การที่สมาชิกเข้าอยู่ในที่ประชุมแล้วไม่แสดงตน เพื่อไม่ให้นับตนเป็นองค์ประชุม เป็นการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้สภาเสียหาย ทำไมไม่ผิด157 ทำไมไม่ผิดจรรยาบรรณอย่างร้ายแรง"
จึงฝากบอก "นายกลุงตู่" ว่าไม่ต้องคิดยุบสภาตามที่คนเดินเกมให้เสียงบประมาณเลือกตั้งใหม่กัน อยู่ยาวเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคปลายปีไปเลย แต่เจ้านายตัวจริง คือ ประชาชน ต้องหาคนรวบรวมข้อมูลร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนเอาผิดจริยธรรมร้ายแรงและส่งดำเนินคดีต่อศาลฎีกา ก็พอครับ โดยมีข้อกฎหมายและแนวทางดำเนินการ 4 ขั้นตอน ดังนี้
1)ยื่นคำร้องต่อสภา เพื่อตรวจสอบรายชื่อและพฤติกรรมว่ามีใครบ้าง ที่ไม่ร่วมประชุมไม่ร่วมแสดงตนเป็นองค์ประชุมหรือลงมติเป็นประจำ จนถือเป็นการจงใจทำให้สภาผู้แทนราษฎรล่ม 17 ครั้ง และเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายหรือขัดขวางให้สภาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ทางนิติบัญญัติได้
2)ตรวจสอบและสรุปการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นว่า เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมหรือไม่
3)ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ หาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด ป.ป.ช.ต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกา วินิจฉัยต่อไป
4)เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งให้รับคำร้องไว้ ส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที !!! และหากศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าเป็นการกระทำผิดฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ต้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ และอาจถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปีด้วย
งานนี้อาจมี ส.ส.ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือหลุดเก้าอี้เว้นวรรคการเมือง 10 ปีเป็นร้อย
ปล : ไม่สงวนสิทธิที่ประชาชนผู้เสียภาษีที่เป็นนายจ้างโดยตรงของ ส.ส. ส.ว.และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะนำข้อกฎหมายและข้อเสนอแนะนี้ไปศึกษาหรือยื่นร้องต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช.โดยตรง