กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ชี้มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย แนะสังเกตสัญาณเตือน เรื้อรังติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ ไอเป็นเลือด หรือมีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร บางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือมีปอดติดเชื้อซ้ำซาก

 

เรารู้กันดีว่า "อาการไอเรื้อรัง" เป็นสัญญาณของการติดเชื้อ "โควิด-19" แต่มันยังเป็นสัญญาณของอีกหนึ่งโรคที่คร่าชีวิตคนมากมาย นั่นคือ 'มะเร็งปอด' โดย กรมการแพทย์ เผย มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมาว่า มะเร็งปอด คือสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 ของคนไทย ซึ่งแบ่งเป็น อันดับ 2 ในผู้ชายรองจากมะเร็งตับ และเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง ซึ่งการตรวจคัดกรองให้พบโรคในระยะแรกนั้นทำได้ยาก และมีอัตราการตายสูง โดยมีสาเหตุสำคัญ ได้แก่

1.การสูบบุหรี่รวมถึงยามวนต่าง ๆ เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของโรคมะเร็งปอด ผู้สูบบุหรี่อาจมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบถึง 10 เท่า รวมถึง ผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่เองโดยตรง แต่สูดดมจากบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบก็มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป เพราะในควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งมากกว่า 60 ชนิด

2.ได้รับแร่ใยหิน (แอสเบสตอส) เป็นแร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น การก่อสร้าง โครงสร้างอาคาร ผ้าเบรค ฉนวนกันความร้อน ผู้เสี่ยงคือ ผู้ที่อาศัย หรือทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแอสเบสตอสปนเบื้อนเป็นเวลานาน อาจใช้เวลากว่า 15-35 ปี ในการทำให้เกิดมะเร็งปอด สำหรับผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ทำงานกับฝุ่นแอสเบสตอส อาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า

3.สาเหตุอื่น ๆ ซึ่งอาจเกิดจากมลภาวะ เช่น PM 2.5 สารเบนซิน ฟอร์มาลดีฮายด์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมะเร็งปอดจำนวนมาก ไม่เคยมีประวัติสูบบุหรี่ หรือ แอสเบสตอส มาก่อน ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการคัดกรองโรคมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่า เมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติมักจะเป็นโรคในระยะที่ลุกลามไปแล้ว ทำให้การตรวจพบโรคในระยะแรกทำได้ยาก และมีอัตราตายสูง วิธีที่ดีที่สุดในปัจจุบันจึงเป็นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ

ด้าน นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นโรคมะเร็งปอดได้แก่ ไอเรื้อรังติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ ไอเป็นเลือด หรือมีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร บางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือมีปอดติดเชื้อซ้ำซาก ซึ่งจริง ๆ แล้วอาการเหล่านี้ไม่ได้เป็นอาการที่เฉพาะเจาะจงกับมะเร็งปอดเพียงอย่างเดียว อาจพบในโรคอื่นได้ด้วย เช่น วัณโรคปอด หากมีอาการน่าสงสัยต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

ทั้งนี้ การวินิจฉัย สามารถทำได้โดยการถ่ายภาพรังสีปอด (X-ray หรือ CT scan) ร่วมกับการตรวจหาเซลล์มะเร็ง เช่น การตรวจจากเสมหะ หรือการตัดชิ้นเนื้อจากปอดมาตรวจ เมื่อพบว่าเป็นมะเร็งปอดแน่นอนแล้ว แพทย์จะเป็นผู้ให้ข้อมูลเพื่อให้ผู้ป่วย และญาติร่วมกันตัดสินใจ โดยพิจารณาจากชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค การลุกลาม และความแข็งแรงของผู้ป่วยเป็นหลัก

สำหรับการรักษามีทั้งการผ่าตัด การใช้ยา การฉายแสง หรือรักษาร่วมกันหลายวิธี รวมถึง การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น งดสูบบุหรี่ ป้องกันตัวจากการสัมผัสแร่ใยหิน หรือ มลภาวะ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง รับประทานผัก ผลไม้ ให้มากขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย และรีบมาพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ในขณะเดียวกัน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ เปิดเผยว่า 'มะเร็ง' เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับที่ 2 รองจากโรคหัวใจ ในขณะที่ 'มะเร็งปอด' เป็นโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุด โดยในปี 2563 มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกจาก 'มะเร็งปอด' กว่า 1.8 ล้านคน

โดยปกติแล้ว อาการของโรคมะเร็งปอดในระยะแรก จะมีน้อย ถึงไม่มีเลย แต่อาการจะเผยออกมาในตอนที่เข้าสู่ระยะรุนแรงแล้ว ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ ได้เผยถึงอาการของโรคมะเร็งปอด มีดังนี้

1. มีอาการไอเรื้อรัง หรือไอเป็นเลือด

2. เจ็บหน้าอก

3. หายใจไม่สะดวก

4. มีอาการหืดหอบ หรือเหนื่อยล้าตลอดเวลา

5. น้ำหนักลดแบบไม่มีสาเหตุ

ดังนั้น หากใครมีอาการเหล่านี้ หรืออาการที่ผิดปกติแบบไม่มีสาเหตุ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที ก่อนที่จะสายไป

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการแพทย์ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ

ขอบคุณภาพจาก: สำนักข่าว The sun