สภาพัฒน์ฯ เปิดตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4 ปี 64 ขยายตัว 1.9% ทั้งปี ขยายตัว 1.6% ดีขึ้นจากปี 63 คาดเศรษฐกิจไทย ปี 65 จะขยายตัว 3.5-4.5%

 

วันที่ 21 ก.พ. 2565 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2564 และแนวโน้มปี 2565 โดยมีรายละเอียดสำคัญ คือ 

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 1.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า (%YoY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2564 ขยายตัวจากไตรมาสที่สามของปี 2564 ร้อยละ 1.8 (%QoQ_SA) รวมทั้งปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 6.2 ในปี 2563

ทั้งนี้ ในรายละเอียด พบว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 6.2 ในปี 2563 ด้านการใช้จ่าย มูลค่าการส่งออกสินค้า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 ร้อยละ 0.3 และร้อยละ 3.4 ตามลำดับ ด้านการผลิต สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง สาขา การผลิตอุตสาหกรรม และสาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมฯ ขยายตัวร้อยละ 1.4 ร้อยละ 4.9 และร้อยละ 1.7 ตามลำดับ ขณะที่สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาการขนส่งฯ ลดลงร้อยละ 14.4 และร้อยละ 2.9 ตามลำดับ รวมทั้งปี 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท (5.06 แสนล้านดอลลาร์ สรอ.) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 232,176.0 บาทต่อคนต่อปี (7,255.5 ดอลลาร์ สรอ. ต่อคนต่อปี)

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.2 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 2.2 ของ GDP

ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 – 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญประกอบด้วย (1) การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ (2) การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว (3) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า และ (4) แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. จะขยายตัวร้อยละ 4.9 การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.5 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ

ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 – 2.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลร้อยละ 1.5 ของ GDP