“ถ้ายกผลประโยชน์ให้เด็ก แต่เด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะ ผู้ปกครองจะดูแลแทน แต่กรณีมีคดีคั่งค้างอยู่ สงสัยว่า มีส่วนในทางคดี ไม่ใช่อุบัติเหตุ จะต้องรอผล และหากพบผู้รับประโยชน์ฆ่าผู้เอาประกันภัย จะจ่ายไม่ได้”
ภายหลังจาก ‘แอนนา เผ็ดมันส์บันเทิง’ ออกมาเปิดเผยว่า ‘แตงโม นิดา’ ใส่ชื่อผู้รับผลประโยชน์เป็นบุตรของกระติก ผู้จัดการส่วนตัว ในประกันอุบัติเหตุ 1 ล้านบาท
สังคมตั้งคำถามว่า ‘บุตรของกระติก’ สามารถรับผลประโยชน์ได้หรือไม่
นายชนะพล มหาวงษ์ อดีตรองเลขาธิการด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ คปภ. เปิดเผยกับข่าวออนไลน์ช่อง 8 ว่า การทำประกันภัย ทั้งชีวิตหรือวินาศภัย ในทางกฎหมายแล้ว จะต้องมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทรัพย์สินของผู้ทำประกันภัย เช่น พ่อแม่ สามีภรรยา บุตร หรือลูกจ้างที่มีนิติผูกพันการมีส่วนได้ส่วนเสียต่อกัน
ส่วนผู้รับผลประโยชน์นั้น อดีตรองเลขาธิการฯ คปภ. ระบุว่า กฎหมายไม่ได้ห้ามให้ต้องเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเท่านั้น ดังนั้น ผู้รับผลประโยชน์จะเป็นใครก็ได้ แต่ที่ผ่านมา บริษัทประกันภัยจะป้องกันการมรณศาสตร์ สนับสนุนให้ผู้รับผลประโยชน์เป็นญาติพี่น้องมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ย้ำอีกครั้งว่า “กฎหมายไม่ได้บังคับ ผู้ทำประกันภัยจะยกผลประโยชน์ให้ใครก็ได้”
นายชนะพล ยกตัวอย่างสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย นั่นหมายความว่า มีผู้รับผลประโยชน์มีเพียงเดียว แต่หากมีการทำประกันชีวิตไว้หลายฉบับ และยกผลประโยชน์ให้แก่ภรรยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกหลายคน สามารถทำได้ เพราะกฎหมายเปิดช่องไว้ แต่ส่วนใหญ่จะต้องดูว่า มีการทุจริต ทำให้เสียชีวิตเพื่อหวังเงินประกันหรือไม่
“ส่วนใหญ่ผู้รับประโยชน์จะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อยู่ ๆ ใครไม่รู้จัก รู้จักหน้าวันเดียว ไปยกอะไรให้ คงจะไม่ได้ แต่กฎหมายไม่ได้บังคับ เรื่องผู้ได้รับประโยชน์” อดีตรองเลขาธิการฯ คปภ. กล่าว และย้ำอีกครั้งว่า ทำประกันภัยต้องมีผู้มีส่วนได้เสียที่จะไปทำให้ และผู้รับประโยชน์ไม่จำเป็นต้องมีส่วนได้เสีย
นายชนะพล ขยายความให้เห็นภาพชัด โดยหยิบยกกรณี ‘แตงโม นิดา’ ยกผลประโยชน์ให้บุตรบุญธรรม ว่ากรณีนี้ต้องดูว่าส่วนได้ส่วนเสียเกิดขึ้นในลักษณะไหน เช่น ในพฤตินัย หรือนิตินัย
ถ้าในทางนิตินัย รับเป็นบุตรบุญธรรม จะต้องมีเอกสารต่าง ๆ การยกผลประโยชน์ให้จะไม่มีปัญหา
ยกเว้นทางพฤตินัย สังคมต้องรับรู้ว่า มีการรับเลี้ยงเด็กคนนี้มาตั้งแต่แรกเกิด กลายเป็นเหมือนพฤตินัยที่มีส่วนได้เสีย ขณะเดียวกันต้องไปดูว่ากฎหมายของบริษัทผู้รับประกันภัยจะตีความอย่างไร
“ผู้รับประโยชน์จะยกให้ใคร สมมติยกให้แม่ จะดูว่า แม่กับเขามีส่วนได้เสีย ซึ่งตามกฎหมายยกให้ได้ แต่ต้องไปดูความชอบตั้งแต่การทำประกันว่า ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และมีส่วนได้เสียหรือไม่
ถ้ายังไม่มีการรับรองบุตรบุญธรรม แสดงว่า ทางนิตินัยไม่มีแล้ว แต่จะเป็นพฤตินัย ทุกคนรู้หมดเลย อันนี้อนุโลมว่าเขาเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย”
ทั้งนี้ ถ้ามีประเด็นแม่ของบุตรบุญธรรมที่แตงโม นิดา จะยกผลประโยชน์ให้ กำลังถูกเพ่งเล็งในเรื่องคดีความ ว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมนั้น จำเป็นต้องรอให้สิ้นสุดก่อน
“ถ้ายกผลประโยชน์ให้เด็ก แต่เด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะ ผู้ปกครองจะดูแลแทน แต่กรณีมีคดีคั่งค้างอยู่ สงสัยว่า มีส่วนในทางคดี ไม่ใช่อุบัติเหตุ จะต้องรอผล และหากพบผู้รับประโยชน์ฆ่าผู้เอาประกันภัย จะจ่ายไม่ได้” อดีตรองเลขาธิการ คปภ. กล่าวในที่สุด