รัฐบาลเผย วิจัยวัคซีนโควิดสัญชาติไทยมีกว่า 20 ชนิด ทดสอบในคนแล้ว 4 ชนิด ส่วนแบบพ่นจมูก พร้อมทดสอบในคนปีนี้ ด้านนายกฯ ชื่นชมผลงาน และความทุ่มเทของนักวิจัยไทย

 

วันที่ 5 มีนาคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความก้าวหน้าในการวิจัย และพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ขณะนี้มีวัคซีนอยู่ระหว่างการวิจัย และพัฒนาจำนวนกว่า 20 ชนิด โดยวัคซีนที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ วัคซีน Chula-Cov19 วัคซีน HXP-GPOVac วัคซีน Baiya SARS-CoV-2 Vax และวัคซีน Covigen ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบในมนุษย์ และหากทดสอบครบสามระยะ ก็จะสามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (อย.) ได้ สำหรับวัคซีนตัวอื่น ๆ มีความก้าวหน้าอยู่ในระดับทดสอบในสัตว์ทดลอง และมีหลายประเภท ทั้งชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector) ชนิดโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein Subunit ) ชนิดสารพันธุกรรม (mRNA) ชนิดอนุภาคไวรัสเสมือน ( Virus-like particle: VLP) เป็นต้น ซึ่งความก้าวหน้าของการพัฒนาวัคซีนต่าง ๆ มาจากความร่วมมืออย่างเต็มที่ของหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ อาทิ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม สวทช. โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สถาบันอุดมศึกษา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคเอกชน เป็นต้น

สำหรับการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 แบบพ่นจมูก ซึ่งมีแนวโน้มจะมีการใช้เพิ่มขึ้น โดยมีข้อดีคือ ใช้งานง่าย เป็นวัคซีนที่พ่นละอองฝอยในโพรงจมูกผ่านเข็มฉีดพ่นยาชนิดพิเศษที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อส่งวัคซีนไปเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในเยื่อเมือกของระบบทางเดินหายใจส่วนบนโดยตรง ซึ่งไวรัสส่วนใหญ่มักจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก และก่อตัวขึ้นในโพรงจมูกก่อนที่จะแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายรวมถึงปอด ซึ่งขณะนี้ ทีมนักวิจัยไบโอเทค ได้พัฒนาวัคซีนพ่นจมูก “NASTVAC” ที่ผ่านการทดลองในสัตว์แล้ว คาดว่าจะสามารถผลิตตัวอย่างวัคซีนประมาณ 200-300 โดส เพื่อใช้สำหรับการทดสอบในมนุษย์ได้ในไตรมาส 2 ปีนี้

มากไปกว่านั้น ยังมีสเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูก ที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อโควิด-19 ซึ่งได้รับการพัฒนาจากความร่วมมือ 5 ภาคีเครือข่ายรัฐ และเอกชน ประกอบด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) องค์การเภสัชกรรม และบริษัทไฮไบโอไซ ซึ่งสเปรย์แอนติบอดีได้ผ่านการทดสอบเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง ซึ่งมีผลเป็นที่น่าพอใจ คาดว่าจะสามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนต่ออย. ประมาณเดือนมิถุนายน และจะผลิตออกสู่ตลาดประมาณไตรมาส 3 ของปีนี้เช่นกัน

นายกรัฐมนตรี ชื่นชมผลงาน และความทุ่มเทของนักวิจัยไทย รวมถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ทำให้ความก้าวหน้าในการวิจัย และพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ภายในประเทศอยู่ในระดับแนวหน้าของภูมิภาค เป็นการใช้องค์ความรู้ที่สั่งสมมาจากงานวิจัย และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยทัดเทียมกับนานาชาติ ในส่วนของรัฐบาล ได้จัดสรรทุนสนับสนุนการวิจัยผ่านสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งมีเป้าหมายให้การพัฒนาวัคซีน เพื่อนำไปสู่การสร้างวัคซีนที่มีคุณภาพสำหรับคนไทย และช่วยเสริมความมั่นคงทางสาธารณสุขให้กับประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต” นางสาวรัชดา กล่าว