ศาลอาญาคดีทุจริตลงโทษจำเลย 2-9 จำคุกคนละ 4 ปี  คดีร่มไม่กาง ขณะฝึกนักเรียนนายร้อยตำรวจ เหตุเกิดปี 57 จำเลยขอประกันตัว ยื่นอุทธรณ์สู้คดี                                                  

 

จากกรณีเกิดอุบัติเหตุร่มไม่กาง ขณะฝึกหลักสูตรพลร่มนักเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน รุ่นที่ 69 ค่ายนเรศวร จ.เพชรบุรี เมื่อปี 2557 ทำให้ นรต.ชยากร พุทธชัยยงค์ เเละนรต.ณัฐวุฒิ ติรสุวรรณสุข เสียชีวิต 

วันที่ 8 มี.ค. 2565 ทนายความ และนายสาธร พุทธชัยยงค์ บิดาของนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต) ชยากร พุทธชัยยงค์ มาฟังคำพิพากษาของศาล ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 จังหวัดสมุทรสงคราม ในคดีหมายเลขดำที อท 17/ 2563 คดีหมายเลขแดงที่ อท 11/2565  

คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึง 9 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 86 157 291 300 พ.ร.บ ว่าด้วยความรับผิดชอบของพนักงานในองค์การหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3 และมาตรา 11 โดยบรรยายฟ้องว่า สํานักงานตํารวจแห่งชาติ (ตร.) โดยการบินตำรวจ จ้างบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จ้างช่วงให้บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ซ่อมเครื่องบินดังกล่าวอีกทอดหนึ่ง

ต่อมาจำเลยทั้ง 9 รับมอบและติดตั้งสลิง สำหรับยึดสายกระโดดร่ม ที่ใช้กระตุกร่ม ของนักกระโดดร่ม ที่มีแหล่งที่มาที่ไม่ถูกต้อง และไม่ได้มาตรฐานบนเครื่องบินดังกล่าว โดยเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กองบินตำรวจและบริษัทการบินไทย จำกัด และด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้ง 9 เป็นเหตุให้ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2557 มีการนำเครื่องบินที่ติดสลิงดังกล่าวไปปฏิบัติฝึกโดดร่มที่ค่ายนเรศวร จังหวัดเพชรบุรี

ขณะทำการโดดร่ม สลิงสำหรับยึดสายกระโดดร่มหลุดจากตัวยึดสลิง ทำให้สลิงไม่กระตุกร่ม ให้กางออก เป็นเหตุให้นักเรียนนายร้อยตำรวจ ชยากร  พุทธชัยยงค์  และนักเรียนนายร้อยตำรวจ ณัฐวุฒิ  ติรสุวรรณสุข ถึงแก่ความตาย และนักเรียนนายร้อยตำรวจ กฤตนัย เงินยวง ได้รับอันตรายสาหัส และนักเรียนนายร้อยตำรวจ เจริญพร รินทะระ  ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ  

ศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 พิจารณาแล้วเห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จำเลยที่ 6-8 ไม่มีเจตนา พิเศษ ที่จะทำให้เกิดความเสียหาย แก่กองบินตำรวจ จึงไม่มีความผิด จำเลยที่ 1 ถึง 5 และถึง 9 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน จำเลยที่ 6-8 ด้วย

ส่วนความผิดตามพ.ร.บ ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กร การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ. ศ. 2502 มาตรา 11 จำเลยที่ 1 ถึง 5 ไม่มีหน้าที่ติดตั้งสลิง จึงไม่มีความผิด จำเลยที่ 9 แม้มีหน้าที่ดูแลการติดตั้งสลิงตามสัญญาว่าจ้าง แต่ขาดเจตนา เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กองบินตำรวจ และบริษัทการบินไทย จำกัด จึงไม่เป็นความผิด

จำเลยที่ 5 เป็นผู้จัดหาสลิง แต่ไม่ได้ตรวจสอบคุณภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึง 4 ร่วมกันติดตั้งสลิงทั้งที่ทราบว่า ไม่มีใบรับรอง และไม่มีการทดลองสอบคุณภาพ เพื่อให้ทราบถึงแรงดึงของสลิง ซึ่งมีผลต่อความปลอดภัยของนักโดดร่ม

สำหรับจำเลยที่ 6-8 มีหน้าที่ตรวจสอบ การติดตั้งสลิง แต่มิได้ตรวจสอบ และไม่ได้ทดลอง สอบคุณภาพของสลิง และจำเลยที่ 9 มีหน้าที่ดูแลซ่อมบำรุง และอยู่ด้วยในขณะติดตั้งสลิง แต่ไม่ได้สอบถามแหล่งที่มาของสลิง

ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึง 9 กระทำโดยประมาท

ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่กำกับดูแลและควบคุมการติดตั้ง และไม่ได้อยู่ด้วยในขณะติดตั้ง จึงไม่มีความผิด  

สรุปคำพิพากษาได้ว่า จำเลยที่ 2 ถึง 9 มีความผิดฐานประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา 291 เป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษ ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อันเป็นกฎหมาย ที่มีโทษหนัก ที่สุดของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกคนละ 4 ปี

ข้อหาอื่นให้ยกและยกฟ้อง จำเลยที่ 1 ในวันนี้

ส่วนจำเลยที่ถูกตัดสินมีความผิด ตั้งแต่จำเลยที่ 2 ถึง 9 ได้ขอยื่นประกันตัวต่อศาล เพื่อยื่นอุทธรณ์สู้คดีต่อไป