วงการบันเทิงเศร้าอีกครั้ง! หลังสูญเสียพระเอกนักบุญตลอดกาล ‘สรพงษ์ ชาตรี’ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง พ.ศ. 2551 จากโรคมะเร็งปอด เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2565 เวลา 15.51 น. ณ รพ.บำรุงราษฎร์

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย บันทึกไว้ว่า สรพงษ์ เกิดเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2492 ที่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา โดยจบการศึกษาชั้น ป.4 จากนั้นบวชเรียนตั้งแต่อายุ 8 ปี ที่วัดเทพสุวรรณ พระนครศรีอยุธยา และวัดดาวดึงส์ บางยี่ขัน ธนบุรี ก่อนจะลาสิกขาบทในปี 2512

เคยสมรสกับนางเอกชื่อดัง ‘โย’ ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ ขวัญ พิมพ์อัปสร ส่วนบุตรคนที่ 2-4 เกิดจาก ‘แอ๊ด’ พิมพ์จันทร์ ใจวงศ์

ก่อนปัจจุบันจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกับดวงเดือน จิไธสงค์ รองมิสไทยแลนด์เวิล์ด ปี 2529 และรองนางสาวไทย ปี 2530

สรพงษ์ เป็นดารานักแสดง เรียกว่าเป็นศิษย์ก้นกุฏิของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล โดยได้รับการชักชวนให้เข้าวงการบันเทิงตั้งแต่อายุเพียง 19 ปี โดยมาอาศัยอยู่ที่วังละโว้ ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ  เริ่มแสดงครั้งแรกเป็นตัวประกอบ และเป็นเด็กยกของในกองถ่ายละครเรื่อง ‘นางไพรตานี’ ทางช่อง 7

ทั้งนี้ ใครบ้างจะรู้ว่า ชื่อ ‘สรพงษ์ ชาตรี’ นั้น แท้จริงแล้ว เป็นชื่อที่ใช้ในการแสดง ผู้ตั้งให้ก็คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ และหม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา

คำว่า สร มาจาก อนุสรมงคลการ และ พงศ์ มาจาก สุรพงศ์ โปร่งมณี ซึ่งเป็นผู้นำมาฝากตัวไว้ และ ชาตรี มาจากชาตรีเฉลิม

@จากตัวประกอบสู่พระเอกเต็มตัว

สรพงษ์แสดงตัวประกอบอยู่หลายเรื่อง กระทั่งได้เป็นพระเอกเต็มตัวในภาพยนตร์เรื่อง มันมากับความมืด ปี 2514 ซึ่งเป็นผลงานกำกับเรื่องแรกของท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม  และต่อมาก็ได้รับบทเด่นทุกเรื่อง จวบจนถึงปัจจุบันมีผลงานประมาณ 587 เรื่อง

ที่จดจำกันได้คือ แผลเก่า และในยุคหลัง คงหนีไม่พ้น ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ที่รับบทเป็น พระมหาเถรคันฉ่อง

ทั้งนี้ ยังเคยรับงานแสดงละครให้กับช่อง 8 ด้วย ในเรื่อง เพลิงภริยา และผู้ชนะสิบทิศ

นอกจากนี้ที่ผ่านมา พระเอกผู้นี้ยังได้รับรางวัลตุ๊กตาทองครั้งแรก จากเรื่อง ชีวิตบัดซบ และสัตว์มนุษย์ เรียกว่าเป็นการรับรางวัล 2 ปี ติดต่อกัน

@ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ

ปี 2551 สรพงษ์ ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง โดยมีคำประกาศเกียรติคุณ ดังนี้

นายกรีพงศ์ เทียมเศวต (สรพงศ์ ชาตรี) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักแสดงภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) นายกรีพงศ์ เทียมเศวต หรือ สรพงศ์ ชาตรี เกิดเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. พ.ศ. 2492 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 และบรรพชาเป็นสามเณรจนอายุ 19 ปี ขณะบรรพชาได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนสอบได้นักธรรมเอก เนื่องจากนายกรีพงศ์ เทียมเศวต มีความสนใจงานด้านการแสดงชอบดูหนังกลางแปลงมาตั้งแต่เด็ก จึงไปสมัครเป็นนักแสดงที่ทีวีช่อง 7 สี ต่อมาได้แสดงฉากโดดลงไปช่วยคนตกน้ำในเรื่อง “หญิงก็มีหัวใจ” เป็นเรื่องแรก ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

หลังจากนั้น จึงได้แสดงเป็นตัวประกอบและแสดงเป็นพระเอกในเวลาต่อมา นายกรีพงศ์ เทียมเศวต มีผลงานการแสดง ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 จนถึงปัจจุบัน มากกว่า 500 เรื่อง ละคร 50 เรื่อง แสดงเป็นพระเอกในหลายบทบาทมากมาย เช่น ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน สามล้อถีบ สามล้อเครื่อง แท็กซี่ ขับรถเมล์ ตำรวจ ทหาร ลิเก หมอ ครู คนบ้า ขอทาน ตาบอด หลังค่อม หน้าบาก มนุษย์หมาป่า ฯลฯ จนได้รับฉายา พระเอกชั้นครู และพระเอกตลอดกาล

นอกจากจะมีความสามารถในด้านการแสดงแล้ว ยังมีความสามารถในเรื่องการร้องเพลง พากย์หนัง ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้กำกับให้กับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล และกำกับละครให้กับบริษัทเวิร์คพอยด์ สอนการแสดงให้กับนักแสดงหน้าใหม่จนมีชื่อเสียงหลายคน จากการใช้ความสามารถทางด้านภาพยนตร์เป็นอย่างสูง จึงเป็นดาราชายผู้ได้รับรางวัลมากที่สุดในวงการภาพยนตร์ไทย อาทิ รางวัลตุ๊กตาทอง 5 รางวัล จากเรื่อง ชีวิตบัดซบ สัตว์มนุษย์ มือปืน มือปืน 2 สาละวิน เสียดาย 2 รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ 2 รางวัล จากเรื่อง ถ้าเธอยังมีรัก มือปืน รางวัลดาราทอง จากภาพยนตร์เรื่อง พลอยทะเล รางวัลดาราดาวรุ่งยอดเยี่ยม ในการประกวดภาพยนตร์นานาชาติ จากเรื่อง มือปืน รางวัลเพชรสยาม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม รางวัลบันเทิงเทิดธรรม Nine Entertain Award 2008 ได้รับยกย่องเป็นพระเอกยอดนิยมอันดับ 1 ดาราชายยอดนิยมอันดับ 1

นายกรีพงศ์ เทียมเศวต ยังคงรับแสดงภาพยนตร์และละคร ถึงแม้จะไม่ได้รับบทพระเอกเพราะอายุมาก แต่บทที่รับแสดงจะเด่นมีความหมายให้แง่คิดในการชม รักษาภาพลักษณ์ของคำว่า ดาราคุณภาพ นอกจากนี้ ยังได้หันมาทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม โดยตั้งมูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน เป็นวิทยากรพิเศษบรรยายให้ ความรู้แก่สถาบันการศึกษา และหน่วยงานอื่น ๆ

นายกรีพงศ์ เทียมเศวต (สรพงศ์ ชาตรี) จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักแสดงภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) พุทธศักราช 2551