แจงข่าวปลอม! ประเด็น ‘กินแล้วนอน’ เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งหลอดเลือด แม้เป็นพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายด้าน แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่า การกินแล้วนอนเสี่ยงเกิดเป็นโรคมะเร็งหลอดเลือดได้ วอนอย่าแชร์ข้อมูลเท็จ
วันที่ 15 มีนาคม 2565 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (Anti-Fake News Center Thailand) ได้ประกาศบนเว็บไซต์ระบุความว่า ตามที่ได้มีข้อมูลปรากฏในสื่อออนไลน์ในประเด็นเรื่อง ‘กินแล้วนอน’ ทำให้เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งหลอดเลือด ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีการเผยแพร่ข้อมูลว่า หากกินแล้วนอน บ่อย ๆ ทำให้เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งหลอดเลือดนั้น ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สืบค้นข้อมูล และชี้แจงว่า ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันแน่ชัดว่า การกินแล้วนอนเสี่ยงเกิดเป็นโรคมะเร็งหลอดเลือด ซึ่งพฤติกรรมกินแล้วนอน เป็นพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายด้าน โดยเฉพาะอาการแสบร้อนกลางอก และอาการกรดไหลย้อน ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากภาวะที่หูรูดบริเวณส่วนปลายของหลอดอาหาร (Lower Esophageal Sphincter – LES) ทำงานผิดปกติ ทำให้กรดหรือน้ำย่อยภายในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในบริเวณหลอดอาหาร ส่งผลให้เกิดการระคายเคือง และอักเสบเรื้อรังบริเวณหลอดอาหาร และบริเวณกล่องเสียงได้
นอกจากนี้ พฤติกรรมกินแล้วนอนอาจส่งผลให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคนอนไม่หลับ โรคอ้วน เป็นต้น จึงควรปรับพฤติกรรม โดยเว้นระยะเวลาการรับประทานอาหาร และการนอนให้ห่างกันอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร สถาบันมะเร็งแห่งชาติ หรือ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หรือโทร. 02 2026800