เข้าใจกันผิด! ปลัด สธ. เเจงชัดไม่มีการเสนอ ศบค. 18 มี.ค. ให้ถอดเเมสก์ในสวนสาธารณะ เเค่ยกตัวอย่างมาตรการผ่อนคลายในอนาคต

 

วันที่ 17 มี.ค. 2565  นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่มีสื่อนำเสนอข่าวว่า สธ.จะเสนอ ศบค.วันที่ 18 มี.ค.นี้ ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะถอดหน้ากากอนามัย หากเข้าสู่โรคประจำถิ่น ว่าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ตอนที่มีการสัมภาษณ์กันนั้น ไม่ได้บอกว่า จะเสนอการผ่อนคลายมาตรการถอดหน้ากากอนามัย หรือถอดแมสก์บางพื้นที่ ในการประชุม ศบค. วันที่ 18 มี.ค. นี้ เพียงแต่บอกว่า จะมีการนำเสนอเรื่องขั้นตอนแผนของการพ้นสู่โรคระบาดใหญ่ เพื่อเข้าสู่โรคประจำถิ่น ซึ่งมีกรอบระยะเวลา 4 เดือน แบ่งตามเฟสเป็น 3 บวก 1 

ส่วนมาตรการต่าง ๆ ในแต่ละระยะจะมีการดำเนินการเพื่อป้องกัoควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลดความรุนแรงที่นำไปสู่การเสียชีวิต ซึ่งพบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยง 608 ที่มีโรคประจำตัว และไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดครบโดส จึงต้องมีการรณรงค์ให้ฉีดบูสเตอร์โดส และหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนการและมาตรการต่าง ๆ ก็จะพ้นจากโรคระบาดใหญ่ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า ไม่มีอะไรเข้ามาอีก ไม่มีไวรัสกลายพันธุ์ที่รุนแรง 


"เรื่องถอดหน้ากากอนามัยนั้น ข้อเท็จจริงคือ ในอนาคตหากเป็นไปตามแผน  Endemic approach อาจมีการผ่อนคลายมาตรการอื่น ๆ ซึ่งยกตัวอย่างว่า อย่างหน้ากากอนามัย หากจะถอดแมสก์ก็แนะนำว่าเป็นบางพื้นที่ อย่างสวนสาธารณะ แต่ไม่ใช่ว่าจะทำเลย จะเสนอ ศบค. เพราะเรื่องนี้จริง ๆ เป็นข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เป็นเรื่องการป้องกันของระบบสาธารณสุข อย่างการใส่แมสก์ นอกจากป้องกันโรคโควิด โรคระบบทางเดินหายใจ ยังป้องกันโรคทางเดินอาหารจากผู้ประกอบอาหาร ที่ใส่หน้ากากอนามัยก็ช่วยเรื่องสุขอนามัยได้ รวมทั้งก็ไม่ได้มีการเสนอผ่อนคลายเรื่องคอนเสิร์ตแต่อย่างไร" ปลัดสธ.กล่าว

 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอ ศบค. เรื่องการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศในรูปแบบ Test &Go เพื่อให้เกิดความคล่องตัวทางเศรษฐกิจ โดยไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง แต่ให้ตรวจ RT-PCR เพียงครั้งเดียวเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย และตรวจ ATK ด้วยตนเองซ้ำอีกครั้งในวันที่ 5 หลังเข้าประเทศ พร้อมปรับลดวงเงินประกันสุขภาพผู้เดินทาง จากเดิมกำหนด 5 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ เหลือ 1 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากเดิมมีค่าเฉลี่ยการรักษาพยาบาลรายละ 1 ล้านบาท แต่ขณะนี้โรคมีความรุนแรงลดลง จึงเสนอปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นอกจากนี้ จะรายงานต่อ ศบค.ชุดใหญ่ เกี่ยวกับแผนการปรับโรคโควิด 19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลรักษาโรค สังคมและกฎหมาย จึงต้องให้ ศบค.รับทราบ เพื่อพิจารณามิติทางสังคมและการแพทย์ให้มีความสมดุลกัน รวมถึงยังมีกฎหมายหลายฉบับในช่วงการระบาดที่ต้องปรับกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลเตรียมปรับมาใช้เป็นร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. ... ที่มีเรื่องของการบริหารในภาวะฉุกเฉินด้วย เป็นต้น

โดยการปรับโรคโควิด 19 เข้าสู่ช่วง Post Pandemic หรือพ้นจากการระบาด เป็นแผนในช่วง 4 เดือนต่อจากนี้ ซึ่งจะทยอยปรับเป็นขั้นตอน (Step Down) และแม้จะเข้าสู่ช่วงที่พ้นจากการระบาดแล้ว ก็ยังต้องเข้มมาตรการป้องกันตนเอง เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ แต่อาจจะผ่อนคลายได้มากขึ้น เช่น การสวมหน้ากากอนามัย ผู้ที่ป่วยยังต้องสวม ส่วนคนทั่วไปอาจให้ถอดได้ในพื้นที่เปิดโล่ง เช่น สวนสาธารณะ ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่แรกที่ทำได้ และอาจเพิ่มจำนวนการรวมกลุ่มคนทำกิจกรรมได้มากขึ้น โดยแผนทั้งหมดอยู่ในเงื่อนไขว่า ไม่มีการกลายพันธุ์ของไวรัสจนเกิดความรุนแรงขึ้นมาใหม่ ดังนั้น ยืนยันว่าไม่ได้มีการเสนอ ศบค. เรื่องให้ถอดหน้ากากอนามัยในสวนสาธารณะแต่อย่างใด เป็นเพียงแผนดำเนินการเมื่อเข้าสู่โรคประจำถิ่น ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น เพราะสถานการณ์อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา