กรมอนามัย รณรงค์ ‘วันน้ำโลก’เผย น้ำประปาหมู่บ้านกว่าครึ่ง ต้องปรับปรุงคุณภาพน้ำ ก่อนนำมาบริโภค โดยหลัก 3C ได้แก่ Clear Clean และChlorine
วันที่ 20 มีนาคม 2565 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ 'วันน้ำโลก' วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปี แนะองค์กรปกครองท้องถิ่น พัฒนาคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน หลังพบว่ากว่าร้อยละ 55 ต้องนำมาปรับปรุงด้วยการต้ม หรือเติมคลอรีน ก่อนนำมาบริโภค โดยแนะแนวทาง 3 C ได้แก่ Clear Clean และChlorine เพื่อให้มีน้ำประปาสะอาดเพียงพอสำหรับประชาชน
ด้านนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันน้ำโลก” หรือ “World Water Day” เพื่อกระตุ้นให้ประชากรทั่วโลกเห็นความสำคัญของน้ำ รวมถึงเกิดความตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์น้ำ และการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กรมอนามัยได้ส่งเสริมให้มีการจัดการคุณภาพน้ำบริโภคให้ได้มาตรฐาน เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชน ซึ่งจากการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านพบว่า มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการบริโภคเพียงร้อยละ 20 ในขณะที่ร้อยละ 55 ต้องปรับปรุงคุณภาพก่อนนำมาบริโภค โดยการต้ม หรือการเติมคลอรีน เพื่อฆ่าเชื้อโรค เนื่องจากพบการปนเปื้อนของแบคทีเรีย ส่วนอีกร้อยละ 25 นั้น ไม่สามารถนำมาบริโภคได้ เพราะมีเหล็ก แมงกานีส ฟลูออไรด์ ความกระด้าง และคลอไรด์ เกินเกณฑ์มาตรฐานของกรมอนามัย
ดังนั้น จึงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน และได้ขับเคลื่อนแผนแม่บท การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภค บริโภค และได้จัดทำข้อเสนอต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้มีคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาระบบประปาหมู่บ้านระดับจังหวัด “ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานประปาหมู่บ้านขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นจังหวัดครบทุกจังหวัดแล้ว และจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน โดยยึดแนวทาง 3 C ดังนี้
1) Clear: ระบบประปาหมู่บ้านมีการจัดสภาพแวดล้อม ตั้งแต่แหล่งน้ำดิบ ระบบผลิต ระบบการจ่ายน้ำ รวมไปถึงการบริหารจัดการที่เหมาะสมตามหลักเกณฑ์ และมาตรฐานคุณภาพระบบประปาหมู่บ้าน
2) Clean: ระบบประปาหมู่บ้านสามารถผลิตน้ำประปามีคุณภาพตามเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ กรมอนามัย พ.ศ. 2563
3) Chlorine: น้ำประปาในระบบจ่ายต้องมีคลอรีนอิสระคงเหลือตามเกณฑ์มาตรฐาน คือ 0.2-0.5 ppm.เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านที่ปนเปื้อนแบคทีเรียได้ ทำให้น้ำประปาหมู่บ้านมีคุณภาพ เหมาะสมสำหรับการบริโภค และสามารถลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงน้ำสะอาดของประชาชนได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว