นักวิจัยไทย ค้นพบผึ้งสองชนิดใหม่ของโลก “ผึ้งหยาดอำพันภูจอง” และ “ผึ้งบุษราคัมภูจอง” ระหว่างสำรวจอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย จ.อุบลราชธานี ตอกย้ำไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ
ดร.ประพันธ์ ไตรยสุทธิ์ สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ร่วมกับ สวทช. ทีมวิจัยจากแลปผึ้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แถลงข่าว การค้นพบผึ้งชนิดใหม่ของโลก คือ “ผึ้งหยาดอำพันภูจอง” และ “ผึ้งบุษราคัมภูจอง” ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ การสนับสนุนการศึกษาวิจัยของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้โครงการวิจัย “ท่องเที่ยวเมืองรอง อุบลราชธานี เที่ยวได้ทั้งปี: ท่องเที่ยวธรรมชาติ วัฒนธรรม และสร้างฐานเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน” เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของพืช สัตว์ ผลิตภัณฑ์ชุมชน วัฒนธรรม
ผึ้งหยาดอำพันภูจอง (Phujong resin bee) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Anthidiellum (Ranthidiellum) phujongensis n. sp. เป็นผึ้งเฉพาะถิ่นในอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ซึ่งเป็นกลุ่มผึ้งหายากที่เคยมีการค้นพบก่อนหน้านี้เพียง 4 ชนิดในโลกเท่านั้น และค้นพบเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การค้นพบครั้งนี้ มีรายงานข้อมูลลักษณะของเพศผู้ และเพศเมีย รวมถึงข้อมูลทางชีววิทยาของรังที่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด โดยลักษณะที่โดดเด่นคือ จะทำรังบริเวณหน้าผาดิน เก็บยางไม้บริสุทธิ์มาสร้างปากทางเข้ารัง เมื่อโดนแสงอาทิตย์สะท้อนแสงประกาย จะมีสีเหลืองสวยงาม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่มีความงดงามอย่างยิ่ง จนเป็นที่มาของชื่อ ผึ้งหยาดอำพันภูจอง เป็นการตั้งชื่อเพื่อให้เกียรติสถานที่ที่พบ และลักษณะเด่นเฉพาะที่งดงามของเขา
ส่วนผึ้งบุษราคัมภูจอง (Topaz cuckoo bee) เป็นผึ้งปรสิตชนิดใหม่ของโลก พบภายในรังของผึ้งหยาดอำพันภูจอง โดยผึ้งชนิดนี้จะแอบวางไข่ในรังของผึ้งหยาดอำพัน และแย่งอาหารของลูกผึ้งหยาดอำพันกิน ปัจจุบันยังค้นพบเฉพาะในผืนป่าของอุทยานแห่งชาติภูจองนายอยในประเทศไทยเท่านั้น ผึ้งชนิดนี้ได้รับเกียรติตั้งชื่อโดย คุณรังสิมา ตัณฑเลขา ผู้อำนวยการโปรแกรมอาวุโส ฝ่ายบริหารวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ สวทช. โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stelis flavofuscinular n. sp. จากลักษณะพิเศษที่มีสีเหลืองเข้ม สลับลายดำบริเวณลำตัว ทำให้นึกถึงความสวยงามของบุษราคัม และเป็นเรื่องราวของผึ้งที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างงานหัตศิลป์นำเสนอผ่านผลิตภัณฑ์ชุมชนสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน
“ผึ้งสองชนิดนี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในการเป็นผู้ผสมเกสรที่สำคัญ สร้างความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศของพรรณไม้ในป่า และการค้นพบผึ้งหายากทั้งสองชนิดนี้ แสดงให้เห็นความอุดมสมบูรณ์และความสำคัญของผืนป่าแห่งนี้ได้เป็นอย่างดีในการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรธรรมชาติที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์”
ทั้งนี้คณะผู้วิจัยได้ประสานความร่วมมือกับอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย เพื่อเพิ่มพื้นที่การสร้างหน้าผาดินธรรมชาติบริเวณพื้นที่ใกล้กับลำห้วย เพื่อเพิ่มโอกาสและสถานที่ในการสร้างรังและขยายพันธุ์ของผึ้งกลุ่มนี้ นอกจากนี้ยังจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องราวของผึ้ง ทั้งความสำคัญ ความงดงาม รวมทั้งข้อมูลทางชีววิทยาที่ให้ประชาชนได้ตระหนักและสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างมูลค่าผ่านงานศิลปะเป็นของฝาก ของที่ระลึก จากฝีมือของชุมชน ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับชุมชนโดยให้ความรู้ถึงประโยชน์ของผึ้งต่อระบบนิเวศ และสร้างให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
นางรังสิมา ตัณฑเลขา ผู้อำนวยการโปรแกรมอาวุโส ฝ่ายบริหารวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็น 1 ใน 7 มหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดสรรทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สวทช. เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ชุมชนในแหล่งท่องเที่ยว มีส่วนร่วมกับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและสร้างความสุขในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) และเป้าหมายการขับเคลื่อน BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ
สวทช. โดยฝ่ายสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ ได้สนับสนุนการวิจัยให้กับคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีตั้งแต่ปี 2563 ภายใต้โครงการวิจัย “ท่องเที่ยวเมืองรอง อุบลราชธานี เที่ยวได้ทั้งปี: ท่องเที่ยวธรรมชาติ วัฒนธรรม และสร้างฐานเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน” เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของพืช สัตว์ ผลิตภัณฑ์ชุมชน วัฒนธรรม แหล่งศาสนสถานต่าง ๆ ในแง่ของการอนุรักษ์ บนซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า ‘นวนุรักษ์’ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเพื่อการจัดเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้ชุมชนหรือหน่วยงานสามารถจัดเก็บข้อมูลได้ด้วยตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์ให้ข้อมูลวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพท้องถิ่น ให้สามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืนและเข้าถึงได้รวดเร็ว คงไว้ซึ่งองค์ความรู้ท้องถิ่นและเข้าถึงการใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในอนาคต ทั้งนี้การค้นพบผึ้งสองชนิดใหม่ของโลก “ผึ้งหยาดอำพันภูจอง” และ “ผึ้งบุษราคัมภูจอง” ทีมวิจัยได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารระดับนานาชาติ Zookeys เรียบร้อยแล้ว และถูกรวบรวมไว้ในฐานข้อมูลของผึ้งในประเทศไทยที่ สวทช. ได้สนับสนุนให้กับมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นางรังสิมา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ชุมชนได้นำลักษณะเฉพาะของผึ้งหยาดอำพันภูจอง และ ผึ้งบุษราคัมภูจอง ไปสร้างงานศิลปะส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน อาทิเช่น ผ้าทอมือ เครื่องจักสาน เสื่อกก ตามความถนัดของชุมชน นับเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ BCG model อีกทางหนึ่ง ประกอบกับช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีแรงงานย้ายถิ่นออกจากกรุงเทพฯ รวมถึงคนรุ่นใหม่ หรือบัณฑิตจบใหม่ที่มีความรู้และทักษะทางเทคโนโลยีย้ายคืนสู่ถิ่นฐานภูมิลำเนาของตน ในพื้นที่หมู่บ้านใกล้กับอุทยานฯ ทำให้แรงงานคืนถิ่นเหล่านี้กลับมามีโอกาสในการสร้างงานสร้างอาชีพในถิ่นฐานของตนเองอีกครั้ง ซึ่งเป็นโอกาสอันดีในการสร้างอาชีพและเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชน
ภาพจาก : ภากร นลินรชตกัณฑ์