กรมประมงจัดพิธีประกาศ “ปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน” ตั้งแต่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 65 ควบคุมการทำประมงฤดูปลามีไข่ พื้นที่ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง เพื่อฟื้นฟูสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืน

 

31 มีนาคม 2565 ณ บริเวณท่าเทียบเรือศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลกระบี่ ตำบลไสไทย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ประกอบพิธีบวงสรวงพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พร้อมประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2565 (ปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน) โดยครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2565 พร้อมปล่อยเรือตรวจการประมงทะเล จำนวน 6 ลำ ออกปฏิบัติการ และร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวน 620,000 ตัว ลงสู่ทะเลกระบี่ โดยมีนายสมชาย หาญภักดีปฏิมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นายสุวิทย์ สุภาพ นายกสมาคมชาวประมงจังหวัดกระบี่ คณะเจ้าหน้าที่และประชาชนให้การต้อนรับ

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ประธานในพิธีฯ กล่าวว่า การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืนควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพประมงและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพี่น้องชาวประมง ถือเป็นนโยบายสำคัญที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้กรมประมงถือปฏิบัติเพื่อบรรลุตามวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรประมง โดยมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน กรมประมงได้ดำเนินการมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 และมีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ สิ่งแวดล้อม และสังคม เพื่อเปิดโอกาสให้สัตว์น้ำได้วางไข่แพร่ขยายพันธุ์เจริญเติบโตและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าก่อให้เกิดการทำประมงที่ยั่งยืนดังเช่นที่ผ่านมา โดยจากผลการศึกษาทางวิชาการพบว่า ในช่วงเวลาการบังคับใช้มาตรการฯ พบสัตว์น้ำชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่มีความสมบูรณ์เพศสูง และพบสัตว์น้ำวัยอ่อนมีความชุกชุมและแพร่กระจายหนาแน่นในพื้นที่ โดยเฉพาะเดือนมิถุนายนมีความหนาแน่นสัตว์น้ำสูงสุดถึง 5,161 ตัว/1,000 ลบ.ม. ประกอบกับจากสถิติผลจับสัตว์น้ำของเรือประมงพาณิชย์และพื้นบ้านทางฝั่งทะเลอันดามัน ในปี 2564 มีปริมาณผลการจับ 388,022 ตัน สูงกว่าปี 2560 อยู่ถึง 12,005 ตัน โดยเฉพาะผลการจับปลาทู ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ ในปี 2564 พบว่ามีปริมาณ 12,267 ตัน สูงกว่าเมื่อปี 2560 ซึ่งมีผลการจับเพียง 3,602 ตันเท่านั้น

ดังนั้น ในปีนี้ กรมประมงยังคงดำเนินมาตรการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน ในช่วงเวลา พื้นที่ และเครื่องมือที่อนุญาตให้ใช้เช่นเดิม ตามประกาศกรมประมงฯ พ.ศ. 2561 คือ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2565 ในเขตพื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ครอบคลุมพื้นที่ 4,696 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ปลายแหลมพันวา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ถึงปลายแหลมหยงสตาร์ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง จึงขอเน้นย้ำให้พี่น้องชาวประมงโปรดให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และระมัดระวังการทำประมง โดยให้ทำประมงเฉพาะเครื่องมือที่ประกาศให้ใช้ได้เท่านั้น เครื่องมืออื่นๆ ห้ามทำโดยเด็ดขาด หากผู้ใดฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสามสิบล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครอง

สำหรับพิธีประกาศปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามันในวันนี้ นอกจากจะมีการประกอบพิธีบวงสรวงพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลในการประกาศใช้มาตรการฯ และปล่อยเรือตรวจการประมงทะเล จำนวน 6 ลำ ออกปฏิบัติการแล้ว ยังมีการมอบแผ่นป้ายเงินอุดหนุนโครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ประจำปี 2565 ให้แก่ผู้นำองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในเขตจังหวัดกระบี่ จำนวน 9 ชุมชน พร้อมร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ 620,000 ตัว ประกอบด้วย กุ้งกุลาดำ 300,000 ตัว ลูกพันธุ์ปูม้า 20,000 ตัว กุ้งแชบ๊วย 300,000 ตัว ลงสู่ทะเลกระบี่ เพื่อเพิ่มผลผลิตลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ ตลอดจนเยี่ยมชมการจัดแสดงนิทรรศการความรู้ทางการประมง อาทิ การแสดงตัวอย่างสัตว์น้ำ ธนาคารปูม้า ปลาการ์ตูน การแจ้งเข้า-ออกเรือประมง ระบบติดตามเรือประมงและการตรวจสอบย้อนกลับที่มาของสัตว์น้ำ โครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมงในพื้นที่ 6 จังหวัด ฝั่งอันดามัน การดำเนินการหลังจากการได้รับใบอนุญาตเรือประมงพาณิชย์ ตลอดจนการจำหน่ายสินค้าจากกลุ่มชุมชนประมงพื้นบ้าน (Fisherman Market) อีกด้วย

โดยกรมประมงมุ่งหวังให้มาตรการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน เป็นกลไกหนึ่งในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำโดยอาศัยความตระหนักและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำที่คุ้มค่าและยั่งยืน สุดท้ายกรมประมงต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงที่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน และเกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพประมงต่อไป....อธิบดีฯ กล่าว

 

ทั้งนี้ ชนิดของเครื่องมือประมง วิธีการทำการประมง และเงื่อนไข ที่สามารถทำการประมงในช่วงประกาศใช้มาตรการฯ มีดังนี้
1. เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ ที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 14 เมตร และต้องทำการประมง
ในเวลากลางคืนนอกเขตทะเลชายฝั่ง
2. เครื่องมืออวนล้อมจับปลากะตัก ทำการประมงเฉพาะในเวลากลางวัน และต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
3. เครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีขนาดช่องตาอวน ตั้งแต่ 4.7 เซนติเมตรขึ้นไป มีความยาวอวน ไม่เกิน 2,500 เมตร
ต่อเรือประมง 1 ลำ ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง และเครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีช่องตาอวนตั้งแต่ 4.7 เซนติเมตรขึ้นไป
มีความยาวอวนเกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
4. เครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง อวนหมึก
5. เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
6. ลอบปูที่มีขนาดตาอวนโดยรอบตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป ใช้ทำการประมงไม่เกิน 300 ลูก ต่อเรือประมง 1 ลำ ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง และลอบปูที่มีขนาดช่องตาท้องลอบตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
7. ลอบหมึกทุกชนิด
8. ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้านในเขตทะเลชายฝั่ง
9. คราดหอยที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 18 เมตร มีความกว้างของปากคราดไม่เกิน 3.5 เมตร ช่องซี่คราดไม่น้อยกว่า 1.2 เซนติเมตร และจำนวนของเครื่องมือคราดหอยต้องไม่เกิน 3 อัน (หน่วย) ต่อเรือกล 1 ลำ ที่ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง รูปแบบ และพื้นที่ทำการประมงของเครื่องมือคราดหอยที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2560

10. อวนรุนเคย โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ออกตามความในมาตรา 68 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558
11. จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก แผงยกปูจักจั่น
12. เครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง
13. การใช้เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า ประกอบเครื่องมือทำการประมงอื่นใด โดยเครื่องมือที่ใช้ประกอบต้องไม่เป็นเครื่องมือประมงพาณิชย์ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดให้การใช้เรือประมงทุกขนาดประกอบเครื่องมือทำการประมงบางประเภทเป็นประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2560 และต้องไม่เป็นเครื่องอวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) และต้องไม่เป็นเครื่องมือที่ถูกห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมงและพื้นที่ทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ.2560 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560

ทั้งนี้ การทำการประมงโดยใช้เครื่องมือในข้อ 3 , 4 , 5 , 6 และ 7 จะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 และจะต้องไม่เป็นเครื่องมือที่ห้ามใช้ทำการประมง ตามมาตรา 67 69 หรือ 71 (1) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558