'ศรีสุวรรณ' ยื่น ป.ป.ช. ให้เร่งรัดไต่สวนสอบสวน วินิจฉัย 18 ส.ส. ถือครองที่ดิน ส.ป.ก. -ภ.บ.ท.5 เทียบกรณีคดี 'ปารีณา'

 

วันที่ 11 เม.ย. 2565 ที่สำนักงาน ป.ป.ช.นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้เร่งรัดการไต่สวนสอบสวนและวินิจฉัย 18 ส.ส.ที่ยึดถือ ครอบครอง ที่ดินของรัฐในรูป ส.ป.ก.และภ.บ.ท.5 โดยเฉพาะที่ดิน ส.ป.ก.ซึ่งศาลฎีกาได้วางบรรทัดฐานไว้แล้วกรณีการถือครองที่ดิน ส.ป.ก.ของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี เป็นเหตุให้ต้องตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตนั้น

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการลักลั่นหรือเลือกปฏิบัติ เพราะยังมี ส.ส.หลายรายที่สมาคมฯ ได้ร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช. ซึ่งระยะเวลาไล่เลี่ยกับการร้องเรียนกรณีของปารีณา คือ ครั้งแรกวันที่ 20 พ.ย.62 จำนวน 3 ราย(มี น.ส.ปารีณาด้วย) ครั้งที่ 2 วันที่ 27 พ.ย.62 จำนวน 3 ราย ครั้งที่ 3 วันที่ 4 ธ.ค.62 จำนวน 13 ราย รวม 19 ราย โดยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐ 5 ราย พรรคเพื่อไทย 4 ราย พรรคภูมิใจไทย 5 ราย พรรคประชาธิปัตย์ 2 ราย พรรคก้าวไกล 2 ราย พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 ราย ซึ่งถือครองที่ดิน ส.ป.ก.จำนวน 6 ราย ถือครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 จำนวน 12 ราย แต่เหตุใดกรณีของ น.ส.ปารีณา ป.ป.ช.จึงวินิจฉัยส่งให้อัยการฟ้องต่อศาลฎีกาได้เร็วกว่า ส.ส.รายอื่น ๆ ทั้งๆที่สมาคมฯร้องเรียนไปในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน

เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ คมจ.1/2565 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ร้อง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ผู้คัดค้าน เรื่อง การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงแล้ว ถือว่าเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญที่ชี้ให้เห็นการที่ ส.ส.ซึ่งเป็นผู้ที่มีรายได้สูง ไม่เป็นคนยากจน ไปถือครองที่ดิน ส.ป.ก. ย่อมเป็นการปิดโอกาสเกษตรกรรายอื่น ทำให้ไม่สามารถนำที่ดินไปจัดสรรให้แก่ผู้ยากไร้และไม่มีที่ดินทำกิน ย่อมทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเคลือบแคลงใจว่า เหตุใดผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงสามารถครอบครองที่ดินจำนวนหลายไร่ในเขตปฏิรูปที่ดินได้ ย่อมเป็นเรื่องที่ ส.ส.ซึ่งควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนทั่วไปไม่พึงปฏิบัติ การกระทำของส.ส.ที่ถือครองที่ดิน ส.ป.ก.จึงเป็นการก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ในการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ 2561 ข้อ 3 ข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรสอง นั่นเอง

ส่วน ส.ส.ที่ถือครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 แม้ ป.ป.ช.ยังไม่ได้ชี้มูลความผิดเป็นบรรทัดฐาน แต่เมื่อเทียบเคียงกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 676/2519 ก็อาจทำให้ ป.ป.ช.วินิจฉัยได้ง่ายขึ้นเพราะ “ผู้ที่มีชื่อในใบเสร็จเสียเงินบำรุงท้องที่เป็นเพียงหลักฐานแสดงว่าผู้นั้นเป็นผู้เสียภาษีเท่านั้น ไม่ใช่หลักฐานแสดงว่าผู้นั้นมีสิทธิครอบครอง”

ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงมายื่นคำร้องในวันนี้ เพื่อขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เร่งรัดการไต่สวนสอบสวนและวินิจฉัย ส.ส.อีก 18 รายที่เหลือที่ถือครองที่ดิน ส.ป.ก. และภ.บ.ท.5 เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเหมือนกัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อไป นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด