กองทัพเรือชี้แจง 3 ข้อกล่าวหา กรณีจัดหาเรือดำน้ำ-ท่าจอดเรือดำน้ำ หลังถูก 'ยุทธพงศ์' โจมตี



วันที่ 12 เม.ย. 2565 พลเรือโท ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงกรณีนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงข่าว ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2565 เวลา 10.00 น. โดยกล่าวโจมตีกองทัพเรือในประเด็นเรือดำน้ำ และท่าจอดเรือดำน้ำ ซึ่งโฆษกกองทัพเรือได้ชี้แจงแยกเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1.กรณีกล่าวหา ว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กองทัพเรือเจรจากับบริษัท CSOC เรื่องปัญหาเครื่อง MTU ของเรือดำน้ำ ให้เสร็จสิ้นก่อน 23 พ.ค.2565

กองทัพเรือ ขอเรียนว่า กองทัพเรือไม่ทราบเรื่องนี้ เชื่อว่าเป็นการพยายามโยงประเด็นเรือดำน้ำให้เกี่ยวข้องเพื่อให้อยู่ในกระแสเพื่อเตรียมการสำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กองทัพเรือจึงขอไม่ตอบประเด็นนี้ อย่างไรก็ตาม อยากเรียนชี้แจงกับประชาชนว่า กองทัพเรือเร่งรัดการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว ปัจจุบันกองทัพเรือยืนยันตามสัญญา คือเรือดำน้ำจะใช้เครื่องยนต์ MTU 396 ของเยอรมัน อย่างไรก็ตาม ขอความกรุณาอย่าเพิ่งคาดเดาเหตุการณ์ล่วงหน้าและสร้างความสับสนให้กับประชาชน กองทัพเรือจะมีการเจรจากับบริษัท CSOC และจะแจ้งความก้าวหน้าให้ประชาชนทราบอย่างตรงไปตรงมาต่อไป

ในเรื่องนี้ขอให้มั่นใจว่า กองทัพเรือจะแก้ไขปัญหาอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง ตรงไปตรงมา ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อกำลังพลของกองทัพเรือเอง และประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด

2. ต่อข้อกล่าวหาว่า งานก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำยังไม่มีความก้าวหน้าเช่นเดิม ถึงแม้ได้เบิกเงินล่วงหน้าไปแล้ว รวมถึงให้บริษัท CRCC รับช่วงต่อจาก บริษัท CSOC และบริษัทแสงเจริญ นั้น

กองทัพเรือ ขอเรียนว่า การดำเนินการก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำขณะนี้บริษัท CSOC ได้ดำเนินการก่อสร้างตามสัญญา ซึ่งกองทัพเรือได้เร่งรัดให้บริษัทฯ ทำให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ส่วนการเบิกเงินล่วงหน้าเป็นเรื่องปกติของทุกโครงการก่อสร้าง แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ก็ได้วางเอกสารทางการเงินเป็นหลักประกันเท่ากับจำนวนเงินที่เบิกล่วงหน้า ดังนั้นหากมีการบอกเลิกสัญญา กองทัพเรือ ก็สามารถเรียกเงินคืนได้โดยไม่เสียเปรียบ ในส่วนการดำเนินการจัดหาบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อก่อสร้างท่าเรือดำน้ำเป็นการดำเนินการของบริษัท CSOC เพื่อให้งานแล้วเสร็จตามสัญญา ซึ่งกองทัพเรือได้ตรวจสอบแล้ว พบว่า บริษัท CSOC ได้ว่าจ้างหลายบริษัทมาสนับสนุนการก่อสร้าง และมีการขออนุญาตอย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ ภาพท่าจอดเรือดำน้ำที่นำมาแสดงและอ้างว่าเป็นท่าจอดเรือดำน้ำที่กองทัพเรือกำลังก่อสร้างอยู่นั้น บางภาพไม่ใช่ภาพจริง ในการนี้กองทัพเรือขอให้ใช้วิจารณญานอย่างยิ่งในการนำเรื่องไม่จริงหรือจริงบางส่วน (Half-truth) และเรื่องที่เป็นความลับทางราชการมาเผยแพร่ให้กับประชาชน ซึ่งเป็นการทำให้สังคมแตกแยก ทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้ข้อมูลของฝ่ายเรา ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งกับประเทศชาติและประชาชน

3. กรณีอ้างว่า ครูสอนภาษาที่ควบคุมงานก่อสร้างฯ ได้พักอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านเอกธานี หน้ากองเรือยุทธการ

กองทัพเรือขอเรียนว่า หมู่บ้านดังกล่าวอยู่นอกพื้นที่ของกองทัพเรือ ซึ่งหากมีบุคคลใด ไม่ว่าสัญชาติใดก็ตาม กระทำความผิดกฎหมาย เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะเข้าทำการตรวจสอบ จับกุมและดำเนินคดี รวมทั้งจากการที่เคยชี้แจงเมื่อ 22 มี.ค. 2565 ไปแล้วว่า ผู้แทนที่บริษัท CSOC แต่งตั้งเพื่อควบคุมงานก่อสร้าง โดยมีเอกสารสัญญาที่ชัดเจน คือนาย Lang Qingxu ซึ่งเป็นผู้บริหารโครงการ และมีนายจักรพงษ์ วงศ์ธนปกรณ์ เป็นวิศวกรโครงการ มีคุณวุฒิวิศวกรโยธาระดับสามัญ ส่วนครูสอนภาษานั้น ตรวจพบว่า บริษัทCSOC ได้จ้างบุคคลเหล่านี้จริง โดยทำหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อ ไม่ได้ควบคุมงานทางวิศวกรรม ต่อมาภายหลัง กองทัพเรือตรวจพบด้วยตนเองว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้อง จึงไม่อนุญาตให้เข้ามาในพื้นที่โครงการก่อสร้างตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ก่อนที่จะถูกนายยุทธพงศ์กล่าวหาในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ดังนั้นจึงอยากจะให้ตรวจสอบอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน ถูกต้อง ก่อนที่จะนำข้อมูลไปชี้แจงกับประชาชน

โฆษกกองทัพเรือ เน้นย้ำว่า กองทัพเรือขอยืนยันต่อพี่น้องประชาชนอีกครั้ง ว่างบประมาณที่กองทัพเรือได้รับจะถูกใช้อย่างคุ้มค่าเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ แม้โครงการจัดหาเรือดำน้ำอาจจะมีอุปสรรคบ้างแต่ก็จะพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ดีที่สุด และขอยืนยันว่าทุกโครงการที่กองทัพเรือดำเนินการเป็นไปด้วยความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ตามนโยบายของ พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ