อธิบดีกรมปศุสัตว์ สั่งปศุสัตว์อยุธยา ตรวจสอบข้อเท็จจริง 'ทารุณกรรมพลายจันทร์เจ้า' พบกระทำผิดต้องเเจ้งความดำเนินคดี 

 

จากกรณีที่มีผู้โพสต์คลิปและภาพควาญช้างใช้ขอสับช้างตีเข้าที่หัวช้างรัว ๆ หลายครั้ง จนช้างเดินงอตัวก้มหัวเดินหนีไปมา โดยเหตุเกิดที่วังช้างแลเพนียด จังหวัดอยุธยา เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2565 ซึ่งอาจเข้าข่ายการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพช้างที่ไม่เหมาะสม นั้น

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เรื่องนี้กรมปศุสัตว์ได้ให้ความสำคัญโดยมิได้เพิกเฉย ทันทีที่ทราบเรื่องได้สั่งการให้นายชูฤทธิ์ เสนีย์มโนมัย ปศุสัตว์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว โดยหากพบว่ามีการกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ก็ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และรายงานให้กรมปศุสัตว์ทราบโดยด่วน ซึ่งต่อมาในวันที่ 12 เม.ย.2565 กรมปศุสัตว์ได้รับรายงานผลการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากปศุสัตว์จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า เหตุการณ์ในคลิปดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2565 เวลาประมาณ 10.00 น. ช้างชื่อ “พลายจันทร์เจ้า” อายุ 18-19 ปี เป็นช้างของวังช้าง มีนายพีร์ (ไม่ทราบนามสกุล) อายุ 18 ปี เป็นควาญช้าง ที่ปรากฏในภาพกำลังใช้ขอสับบริเวณศีรษะของพลายจันทร์เจ้าหลายครั้ง โดยควาญช้างอ้างว่าสาเหตุที่ใช้ขอสับช้างนั้นมาจากการที่พลายจันทร์เจ้าได้ใช้งาแทงช้างพังเพศเมียที่กำลังตั้งท้อง ควาญช้างจึงได้ทำการลงโทษช้างพลายจันทร์เจ้าเพื่อไม่ให้มีพฤติกรรมดังกล่าวอีก นอกจากนี้จากการตรวจสุขภาพช้างพลายจันทร์เจ้าพบว่า สุขภาพโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่พบว่ามีบาดแผลบริเวณผิวหนังบริเวณศีรษะ  โดยลักษณะบาดแผลดังกล่าวไม่ลึกถึงชั้นใต้ผิวหนัง

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากเรื่องการทารุณกรรมแล้ว ยังมีเรื่องการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เจ้าของช้างหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลช้างต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง พ.ศ. 2563  โดยยึดตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Five Freedoms) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ในการเลี้ยงและปฏิบัติต่อสัตว์ ทั้งนี้ตามกฎหมายดังกล่าว ข้อ 5 (4) การควบคุมและจับบังคับช้างต้องกระทำอย่างเหมาะสม เท่าที่จำเป็น และพอสมควรแก่เหตุ ประกอบกับในข้อ 5 (4) (ข) การใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ในการควบคุมและจับบังคับช้างสามารถกระทำได้ในกรณีที่ช้างอาจกระทำอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสัตว์อื่น นั้นจะเป็นข้อพิจารณา หลักสำคัญในการวินิจฉัยกรณีกระทำความผิดดังกล่าวในประเด็นการจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้างอย่างไม่เหมาะสม ดังนั้น ในประเด็นดังกล่าวจึงต้องมีตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียดและครบถ้วนต่อไป

อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดที่ชัดเจนให้ครบถ้วน หากพบว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ป้องกันทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง พ.ศ. 2563 กรมปศุสัตว์จะดำเนินการแจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีผู้กระทำความผิดต่อไป ทั้งนี้ หากพบการกระทำความผิดทารุณกรรมช้าง หรือการจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้างทีไม่เหมาะสม สามารถแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์หรือพนักงานสอบสวนในพื้นที่ที่เกิดเหตุให้ระงับเหตุและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายฉบับนี้ได้ หรือร้องเรียนผ่านทางแอปพลิเคชั่น DLD 4.0 ของกรมปศุสัตว์