สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า "ภูเขาขยะในอินเดีย" ที่มีความสูงกว่า 73 เมตร เผาไหม้เองตามธรรมชาติติดต่อกันนาน 3 วัน คาดว่า เกิดจากก๊าซมีเทน ประกอบกับคลื่นความร้อนสูง จนเกิดควันพิษลอยปกคลุมทั่วเมือง
วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า อินเดียเกิดเพลิงไหม้ที่ภูเขาขยะขนาดใหญ่ที่สุด อันเนื่องมาจากคลื่นความร้อนในอินเดียพุ่งสูงขึ้น ทำให้ก๊าซมีเทนเกิดการเผาไหม้ตัวเอง และเกิดควันพิษปกคลุมทั่วเมือง
หากสอบถามจากคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ทุกคนแทบจะพูดเหมือนกันว่า ‘มันไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย’ เพราะความร้อนเกิดขึ้นทุกปี ไฟจากภูเขาขยะก็มีทุกปี เพราะมันเต็มไปด้วยวัตถุที่หลากหลาย แต่ปีนี้พิเศษตรงที่อุณหภูมิร้อนที่สุดในรอบ 100 กว่าปีของอินเดีย
ทั้งนี้ ภูเขาขยะในอินเดียถูกพูดถึงกันในวงกว้างว่า เป็นภูเขาที่มีความสูงมาก และตอนนี้คาดว่า ความสูงแซง "ทัชมาฮาล" มรดกของอินเดียไปแล้ว โดยภูเขาขยะแห่งนี้มีนามว่า “Ghazipur” ตั้งอยู่ที่เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย มีความสูงอยู่ที่ 10 เมตร เกิดจากกองขยะทุก ๆ วัน และจนในที่สุด จากรายงานปี 2020 มีความสูงทั้งสิ้น 65 เมตร ซึ่งทัชมาฮาลมีความสูง 73 เมตร และในที่สุดปี 2022 มีรายงานว่ามันสูงพอ ๆ กับทัชมาฮาลแล้ว และอาจมากกว่าด้วย โดยภูเขาขยะนี้มีความสูงที่มากกว่าอาคารสูง 17 ชั้น กว้างกว่าสนามฟุตบอล 50 สนาม ดังนั้นกองขยะจึงมีความสูงมากกว่า 73 เมตร และยาวประมาณ 4,572 เมตร
ล่าสุด ประเทศอินเดียได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งได้ปล่อยควันพิษขึ้นไปในอากาศติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 วัน โดยเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลมาจากการเผาไหม้ก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นเอง (CH4) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพมากพอที่ปล่อยออกมาจากการสลายตัวของอินทรียวัตถุ