“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” จากพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยศูรยพิมาน ที่พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 จวบจนถึงปัจจุบันได้แสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานในพระองค์ที่ทรงตั้งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการอย่างมิทรงเหน็ดเหนื่อย

ตั้งแต่บัดนั้น จึงถือว่า วันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคล หรือวันพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร ในแผ่นดินรัชกาลที่ 10

ทั้งนี้ “ฉัตรมงคล” เป็นวันรำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่มีประวัติมาอย่างยาวนาน โดยมีบันทึกไว้ในหลักศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไทว่า “เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนผาเมืองอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวเป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัย” เรื่อยมาจนกระทั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

หากพระมหากษัตริย์ไทยยังไม่ได้เข้าสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่มีคำนำหน้าว่า “พระบาท”  แต่จะใช้คำว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ไปก่อนจนกว่ามีพระราชพิธี รวมถึงจะไม่มีการใช้นพปฏลเศวตฉัตร 9 ชั้น

ในประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์มีพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวที่ไม่ได้เข้าสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 เนื่องจากทรงเสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงเฉลิมพระเกียรติสถาปนาให้เป็นพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ในภายหลัง

กาลเวลาล่วงเลยมาถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 10 ในหนแรกนั้น พระองค์ก็ไม่ได้ใช้คำนำหน้าว่า พระบาท พสกนิกรชาวไทยเรียกขานพระนามพระองค์ว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวราชกูร” จนเข้าสู่พระราชพิธีและดำรงพระอิสริยยศเป็นพระมหากษัตริย์ไทยอย่างเต็มรูปแบบตามโบราณราชประเพณี

วันฉัตรมงคลจึงถือเป็นวันสำคัญของคนไทย มิใช่เป็นเพียงวันหยุดราชการ ที่ทุกคนจะได้พักผ่อนและท่องเที่ยวกับครอบครัวเท่านั้น แต่เป็นวันที่จะได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยแต่ละพระองค์ที่ทรงตรากตรำงานอย่างหนัก เพื่อพสกนิกรชาวไทย ผ่านพระราชกรณียกิจสำคัญมากมาย จนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก

เช่นกันกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระองค์ทรงปฏิบัติตนให้เป็นไปตามพระปฐมบรมราชโองการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด...” ทรงขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 9 ต่อไป ทำหน้าที่แทนพระราชบิดาอย่างเต็มพระกำลัง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาน้ำ โดยทรงเสด็จฯ เปิดเขื่อนนฤบดินทรจินดา เสียงทรงพระเจริญกึกก้อง

ทรงเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้การอดทน อดกลั้น ต่อปัญหาต่าง ๆ และทรงออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจเยี่ยมเยือนราษฎรอยู่เป็นนิจ โดยมีคู่พระบารมี สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพระราชโอรส พระราชธิดา เคียงข้างพระกำลังเสมอ

เพื่อให้เป็นไปตามพระปฐมบรมราชโองการที่ให้ไว้แก่พสกนิกรชาวไทยเมื่อครั้งเถลิงถวัลย์ราชสมบัตินั่นเอง .

เขียนโดย ณัฐดนัย ใหม่ซ้อน