"วิโรจน์" ประกาศได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. เตรียมรื้อระบบสัมปทานนำสายไฟลงดินใหม่ เชื่อใช้งบฯ ไม่ถึง 2 หมื่นล้าน ยันทำทุกอย่างต้องโปร่งใส พร้อมเตรียมประสานเอกชนรื้อสายสื่อสารเก่าภายใน 3 เดือน

 

วันที่ 6 พ.ค. 2565 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเเสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการแก้ปัญหาสายระโยงระยาง บดบังทัศนียภาพกรุงเทพฯ ว่าที่เห็นระโยงระยาง ส่วนใหญ่เป็นสายสัญญาณเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้ว แต่เจ้าของไม่เก็บ และกรุงเทพฯ ไม่เคยเร่งรัดให้เก็บด้วย ไม่เคยใช้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ไปปรับเงินผู้ให้บริการสายสัญญาณเหล่านี้เลย  จึงตั้งคำถามว่ากรุงเทพฯ เกรงใจใครบางคนหรือไม่

ขณะที่กรุงเทพฯ ชั้นเรา ชอบพูดถึงเรื่องของการนำสายไฟลงดิน แต่เคยมีการประเมินมูลค่าว่าต้องใช้งบประมาณเกือบ 3 หมื่นล้าน เมื่อตัวเลขสูง กทม.จึงเปิดประมูล แต่ปรากฎว่า มีข้อสงสัย ว่า กทม.ตอนนั้นกำลังประเคนให้กับ Operator รายหนึ่งให้ได้สัมปทานผูกขาด ดำเนินการนำสายไฟลงดิน จากนั้นก็จะมีการเก็บค่าท่อไร้สายใต้ดินกับ Operator รายอื่น ๆ และค่าเช่านี้ก็ให้กับผู้ที่ประมูลได้ โดย กทม.ไม่ได้ส่วนแบ่งอะไรเลย

นายวิโรจน์ กล่าวว่า หากเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะแก้ไขเรื่องนี้อย่างโปร่งใสที่สุด เริ่มจากการประเมินมูลค่างานเอาสายไฟลงดินใหม่ โดยให้ผู้สังเกตการณ์อิสระเข้ามาดูด้วย เมื่อได้ราคาแล้ว จึงจะพิจารณาว่าเราควรที่จะเปิดประมูลหรือว่ากรุงเทพฯ ควรจะทำเอง

 

"เข้าไปเดือนแรกคงต้องตาม Operator ต่าง ๆ มาเคลียร์ เรื่องสายสัญญาณที่ไม่ใช้แล้ว ที่มาทำสร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนภายใน 2-3 เดือน ต้องเก็บทันที ส่วนเรื่องสายไฟลงดิน ต้องเริ่มประเมินมูลค่าใหม่ สิ่งสำคัญที่สุดคือความโปร่งใส ต้องให้ผู้สังเกตการณ์อิสระเข้ามาดูแลตั้งแต่ต้น เพราะหลายคนบอกว่า ไม่ใช่ 2 หมื่นล้าน มันอาจจะเป็นหมื่นกว่าล้าน จากนั้นจึงพิจารณาต่อว่าจัดงบประมาณทำเองหรือประมูล ถ้ามีการประมูลก็ต้องประมูลแบบโปร่งใส แล้วก็ต้องมีส่วนแบ่งในการเช่าท่อไร้สาย กรุงเทพฯ ต้องเป็นคนจัดเก็บรายได้ ไม่ใช่เอารายได้นั้นมาปรับปรุงและดูแลทัศนียภาพ"

 

นายวิโรจน์ ยังกล่าวว่า คุณเห็นข่าวไหม มันห้อยลงมา คนขี่มอเตอร์ไซค์ไปเกี่ยวเสียชีวิต คุณปล่อยให้คนที่เสียชีวิตไปทวงความยุติธรรมตามลำพังได้อย่างไร กรุงเทพฯ ต้องเข้าไปเป็นเจ้าทุกข์ร่วม อย่างน้อยต้องรวบรวมหลักฐานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนที่ได้รับผลกระทบจากสายสัญญาณ ที่มันขาดการดูแลจาก operator