"รังสิมันต์ โรม" จี้ "ประยุทธ์" พักงาน-สอบ "จุติ" หวั่นเอื้อคนกันเอง กรณีอุ้มคนผิด ค้าประเวณีที่สุราษฎร์ฯ
วันที่ 8 พ.ค. 2565 นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีการขยายผลจับกุมขบวนการค้ามนุษย์ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับพรรคประชาธิปัตย์เข้ามีส่วนเกี่ยวข้องหลายคน ว่าการจับกุมบุคคลที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์เด็กและเยาวชน จนมีการขยายผลออกหมายจับ ควบคุมตัวบุคคลที่มีอิทธิพลจำนวนหนึ่ง เช่น ลูกชายอดีต ส.ส. หลายสมัยของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งสังคมกำลังให้ความสนใจ หลังปรากฏว่ารองอธิบดีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบังคับให้เหยื่อที่ถูกค้าประเวณี ร่วมมือกับผู้กระทำความผิด จนมีการตั้งคำถามขึ้นมา ว่าเหตุใดคนระดับรองอธิบดี ซึ่งมีสถานะในกลไกราชการสูง ถึงกล้าเข้าไปเกี่ยวข้องในลักษณะนี้ และมีคนให้ท้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือไม่
จึงเป็นเรื่องที่น่าสังเกต ว่า กรณีนี้ นายจุติ ไกรฤกษ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. มาตั้งแต่ปี 2562 ควรจะรู้ว่าแต่ละคนที่ตัวเองทำงานด้วยอยู่เป็นอย่างไร และที่น่ากังวลคือการที่จุติเป็นแกนนำคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นถึงอดีตเลขาธิการพรรคมาหลายปี จะนำไปสู่กระบวนการช่วยเหลือกันอย่างเป็นระบบ ให้ผู้กระทำความผิดรอดพ้นจากกระบวนการยุติธรรมหรือไม่?
"สิ่งที่เกิดขึ้น คือ คนที่เป็นลูกของอดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ มีพี่สาวเป็น ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กระทำการผิดกฎหมาย ในพื้นที่ที่พรรคประชาธิปัตย์ครองอยู่ โดยคนที่มาช่วยเคลียร์ ก็เป็นคนที่อยู่ในกระทรวงที่พรรคประชาธิปัตย์ครองอยู่ โดยรัฐมนตรีที่กำลังสอบสวนเรื่องนี้ ก็เป็นรัฐมนตรีที่อยู่ในโควต้าของพรรคประชาธิปัตตย์ และเคยเป็นเลขาฯ ของพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นเวลานาน เราจะมั่นใจในกระบวนการตรวจสอบได้จริง ๆ หรือ? ผมเองไม่มั่นใจต่อกระบวนการตรวจสอบที่เกิดขึ้น"
โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า วันนี้สังคมกำลังเป็นห่วงว่า ถ้าไม่เร่งดำเนินการจะจับใครไม่ได้ หรือจับได้แค่ปลาตัวเล็กเหมือนที่เคยเป็นมา พรรคก้าวไกลจึงขอใช้โอกาสนี้เรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ให้มีมาตรการตรวจสอบที่ครอบคลุมไปถึงรัฐมนตรี พม. ด้วย โดยอย่ากังวลว่าถ้ามีการปลด เปลี่ยนแปลง ตั้งกรรมการสอบแล้วจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่สนับสนุนรัฐบาลอีกต่อไป นายกรัฐมนตรีต้องแสดงความรับผิดชอบมากกว่าแค่การให้สัมภาษณ์ว่าจะมีการสอบสวนเท่านั้น
"สิ่งที่น่ากังวลใจคือการสอบสวนเรื่องนี้เป็นการสอบสวนแบบคนกันเองหรือเปล่า อย่างน้อยนายกรัฐมนตรีควรมีมาตรการเชิงรุกไปตรวจสอบมากกว่านี้ ตำรวจที่เจอตออยู่ ควรจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นแบ็คอัพให้ พม. ควรจะเป็นกระทรวงที่ช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อ ช่วยคนที่ถูกละเมิด ไม่ใช่ซ้ำเติม การมีบุคลากรใน พม. แบบนี้ทำให้สังคมไทยโดดเดี่ยว ไม่รู้จะไปพึ่งพาใครอีกแล้ว" นายรังสิมันต์ กล่าวในที่สุด