"นายกฯ" ชื่นชมมหาวิทยาลัยไทยติดอันดับ 16 ของโลก ในการจัดอันดับ THE Impact Rankings 2022

 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมความสำเร็จของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับที่ 16 ของโลก ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) หรือ THE Impact Rankings 2022 โดย The Times Higher Education (THE) เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา สร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้ประเทศไทยในระดับโลก

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การจัดอันดับ THE Impact Rankings ในปีนี้ มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมทั้งหมด 1,406 แห่งจาก 106 ประเทศทั่วโลก โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้อันดับที่ 16 ของโลก ซึ่งถือเป็นอันดับที่ดีที่สุดของมหาวิทยาลัยไทย ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา และยังถือเป็นอันดับที่ 4 ในภูมิภาคเอเชีย รองจากประเทศมาเลเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยผลงานที่โดดเด่นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ติดอันดับตามเป้าหมายของ SDG ได้แก่
- SDG 3 Good Health and Well-being (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) ได้อันดับที่ 16 จาก 1,101 มหาวิทยาลัย
- SDG 9 Industry Innovation and Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมและอุตสาหกรรม) ได้อันดับที่ 26 จาก 785 มหาวิทยาลัย
- SDG 14 Life Below Water (ทรัพยากรทางทะเล) ได้อันดับที่ 26 จาก 452 มหาวิทยาลัย
- SDG 15 Life on Land (ระบบนิเวศบนบก) ได้อันดับที่ 16 จาก 521 มหาวิทยาลัย
- SDG 17 Partnerships for the Goals (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) ได้อันดับที่ 10 จาก 1,438 มหาวิทยาลัย

การจัดอันดับในครั้งนี้ มีมหาวิทยาลัยไทยส่งข้อมูลเข้ารวมทั้งหมด 51 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยที่มีผลงานโดดเด่นเพิ่มเติม ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันดับที่ 70 ของโลก และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่ม 200 อันดับของโลก

ทั้งนี้ Times Higher Education (THE) เป็นองค์กรจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกจากประเทศอังกฤษ และเป็นองค์กรแรกที่มีการวัดความสำเร็จของมหาวิทยาลัยทั่วโลกในการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ผ่านการประเมินตัวชี้วัดโดยแบ่งเป็น 4 ขอบเขตหลัก ได้แก่ 1) งานวิจัย (Research) 2) นโยบายและแนวทางปฏิบัติภายในมหาวิทยาลัย (Stewardship) 3) การเชื่อมโยงกับสังคมในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับโลก (Outreach) และ 4) การเรียนการสอน (Teaching)

นายธนกรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีชื่นชมการดำเนินงาน ของบุคลากรผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้ทุกคน ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงและแสดงศักยภาพด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยไทยในระดับโลก สะท้อน การตื่นตัว และการให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคการศึกษาไทย ซึ่งสอดคล้องกับความจริงจังของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายด้านการศึกษา ตามแนวทางที่รัฐบาลส่งเสริมมาโดยตลอด ผ่านการบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาติเข้าไว้ในแผนการดำเนินงานต่าง ๆ อาทิ แผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ความสำเร็จในครั้งนี้ จะเป็นก้าวที่สำคัญของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน