"ศิธา" ประเดิมเข้าคูหาใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่า กทม. และ ส.ก. ในหน่วยเลือกตั้งที่ 38 โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย เป็นคนแรก เผย เป็นการมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งในรอบ 9 ปี เชื่อว่าชาวกรุงเทพฯ จะออกมาใช้สิทธิ์กันจำนวนมาก
วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ที่ลานอเนกประสงค์โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย แขวงคลองถนน เขตสายไหม ซึ่งเป็นหน่วยเลือกตั้งที่นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.จะเดินมาใช้สิทธิ์การเลือกตั้ง โดยหน่วยเลือกตั้งที่โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัยประกอบด้วยหน่วยเลือกตั้งที่ 38-44 โดยนาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี จะเดินทางมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่ 38 ลำดับที่ 17
ซึ่งทางหน่วยเลือกตั้งได้มีการจัดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในคูหาการเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าคูหาการเลือกตั้ง และจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร หรืออสส. คอยให้บริการประชาชน ท่ามกลางการดูแลความเรียบร้อยจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลสายไหม
โดยมีประชาชนเดินทางมาที่หน่วยเลือกตั้งก่อนเวลา 08.00 น. เพื่อมาตรวจสอบรายชื่อ และลำดับในการเข้าคูหาเลือกตั้ง เช่น นายถาวร บุญสมบัติ อายุ 71 ปี ได้เดินทางมาที่หน่วยเลือกตั้งก่อนเวลาเปิดหีบเป็นคนแรก เนื่องจากจะต้องเดินทางไปทำงานต่อในช่วงเช้า โดยนายถาวร กล่าวว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในรอบ 9 ปี ดังนั้นจึงตั้งใจที่จะเดินทางมาใช้สิทธิ์แต่เช้าเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่อาจติดขัดในช่วงสาย โดยนายถาวรกล่าวว่าผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่จะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้กับชาวกทม. เช่น ปัญหาเรื่องรถติด ปัญหาน้ำท่วม และปัญหาปากท้องโดยเฉพาะกับประชาขนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ และต้องการให้ผู้ว่าคนใหม่ทำงานเพื่อประชาชนจริง ๆ
ทั้งนี้นาวาอากาศตรีศิธา ทิวารี ได้เดินทางมาถึงลานอเนกประสงค์โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย เพื่อใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ในเวลา 07.58 น. ซึ่งเมื่อตรวจสอบลำดับ และรายชื่อที่คูหาเลือกตั้งที่ 38 แล้วจากนั้นเวลา 08.00 น. ซึ่งได้เวลาเปิดหีบเลือกตั้งนาวาอากาศตรีศิธา เป็นผู้เดินเข้าคูหาเลือกตั้งเป็นคนแรก โดยกล่าวว่าวันนี้รู้สึกผ่อนคลายมากยิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมาเนื่องจากไม่ต้องเตรียมข้อมูลเพื่อขึ้นเวทีดีเบทเช่นที่ผ่านมาซึ่งการเลือกตั้งในวันนี้ตนเองมองว่าผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และส.ก.ทุกคน ซึ่งรวมถึงประชาชนชาวกทม. ต่างมีความรู้สึกเดียวกันคือ ต้องการมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งเนื่องจากเป็นการใช้สิทธิ์ในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา โดย 4 ปีข้างหน้ามองว่า กทม.จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่านี้ และนโยบายในการหาเสียงจะต้องไม่ใช่นโยบายเดิม ซึ่งหากนโยบายยังวนอยู่ที่จุดเดิมจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่ได้รับการแก้ไข