ดีเอสไอสนธิกำลังตรวจค้นยึดอายัดทรัพย์สิน "รีสอร์ตหรูอัมพวา" พัวพันคดีฟอกเงินทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์ ก.เกษตรฯ
วันที่ 24 พ.ค.2565 นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยพันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายระวี อักษรศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับนายประกอบ เผ่าพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พันตำรวจเอกสมยศ อุดมรักษาทรัพย์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ได้นำหมายค้นศาลอาญาเลขที่ 363/2565 ลงวันที่ 23 พ.ค. 2565 เข้าตรวจค้นอาคารสำนักงาน ณ บ้านทุ่งกรุ๊ป จำกัด หรือ "รีสอร์ต ณ บ้านทุ่งอัมพวา" เลขที่ 45 ม.6 ต.ปลายโพงพาง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เพื่อแสวงหาหลักฐานและยึด อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำกัด
นายไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า กรณีนี้สืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับหนังสือจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2565 ว่าพบมีการทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ได้รับคดีอาญาไว้ทำการสอบสวน กรณีมีการทุจริตภายในสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำกัด อันเป็นความผิดอาญาฐานลักทรัพย์นายจ้าง โดยพนักงานสอบสวนรับเป็นคดีอาญาที่ 86/2565 เรื่องนี้ได้ขอให้ดีเอสไอดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำความผิดและติดตามทรัพย์สินคืนกับผู้เสียหาย โดยพบว่ามีการทุจริตเงินสหกรณ์ฯ มากกว่า 600 ล้านบาท กระทำการหลายครั้งลักษณะเป็นปกติธุระ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
จากการสืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ พบว่า มีเส้นทางทางการเงิน 2 เส้นทาง คือ 1.นางศิริพร รัตนปราการ อดีตหัวหน้าฝ่ายการเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ และ 2. นางพวงทิพย์ สุทธิแย้ม อดีตผู้จัดการฯ มีการนำเงินที่ทุจริตออกจากสหกรณ์ไปซื้อทรัพย์สินประเภทที่ดิน เพื่อประกอบกิจการรีสอร์ท บ้านพัก ภัตตาคาร ร้านอาหารหลายแห่ง รวมทั้งรถยนต์หรูและทรัพย์สินอื่น ๆ อีกจำนวนมาก และยังพบว่ามีการนำไปลงทุนซื้อหลักทรัพย์หรือหน่วยลงทุนอื่นด้วย จึงเป็นพฤติการณ์ที่เข้าข่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์สิน เพื่อปกปิดแหล่งที่มา อันเป็นความผิดฐานฟอกเงิน ตามมาตรา 5 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้รับเป็นคดีพิเศษที่ 237/2565 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวน และยึด อายัดทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด โดยจะได้มีการสืบสวนสอบสวนและขยายผลเพิ่มเติมเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป
นายไตรยฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้วันนี้ยังตรวจค้นพื้นที่พื้นที่เป้าหมาย อีก 5 จุด ได้แก่ สถานที่พักอาศัยใน จ. ปทุมธานี จำนวน 2 จุด สถานประกอบกิจการภัตตาคารและร้านอาหารใน จ.ปทุมธานี จำนวน 2 จุด สถานประกอบกิจการโรงแรมใน จ.เพชรบูรณ์ จำนวน 1 จุด และที่ จ.สมุทรสงคราม 1 จุด
อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจค้น ทั้ง 6 จุด พบทรัพย์สินประเภทที่ดิน จำนวน 8 แปลง มีเนื้อที่ประมาณ 61 ไร่ รถยนต์เปอโยต์ รุ่น BIPPER จำนวน 1 คัน รถยนต์ฮุนได รุ่น H-1 จำนวน 1 คัน รถยนต์ปอร์เช่ รุ่น คาเยน จำนวน 1 คัน กระเป๋าแบรนด์เนมหลายใบ นาฬิกาหรูจำนวนหลายเรือน รวมทรัพย์สินฯ ที่ได้ทำการตรวจยึด อายัดไว้มีมูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะได้ทำการขยายผลเพื่อติดตามทรัพย์สินต่อไป
นายไตรยฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ขอให้เจ้าทุกข์มั่นใจว่าจะได้ทรัพย์สินคืน เนื่องจากดีเอสไอได้ร่วมกับ ปปง.ตรวจค้นและทำบัญชีอายัดทรัพย์สิน โดยจะดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งก่อนหน้านี้ดีเอสไอได้ตรวจสอบเส้นทางทางการเงินเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าเงินจะโอนไปที่ใคร จะประสาน ปปง.ตามไปยึดทรัพย์ และขยายผลไปยังชั้นที่ 2 ชั้นที่ 3 ต่อไป ซึ่งดีเอสไอเคยมีผลงานในการยึดอายัดทรัพย์ สหกรณ์ออมทรัพย์รถไฟ และสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬา มาแล้ว ส่วนความคืบหน้าคดีนี้จะได้เสนอพี่น้องประชาชนให้ทราบต่อไป