สำนักงานกองทุนน้ำมันฯ เผยสภาพคล่องเหลืออีกแค่ 1.2 หมื่นล้าน พยุงราคาน้ำมันได้เดือนกว่า เล็งขอเงินอุดหนุนรัฐบาลช่วย
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผอ.สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเปิดเผยในวันนี้ (27 พ.ค. 2565) ว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสภาพคล่องเหลืออยู่ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่า จะสามารถพยุงราคาน้ำมันได้อีกอย่างน้อย 1 เดือน และหลังจากนั้นต้องหาสภาพคล่องมาเพิ่มให้ได้ ซึ่งมี 2 ทางเลือกที่สามารถดำเนินการได้ คือ
1. กู้เงินจากสถาบันการเงินตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุมัติให้กองทุนน้ำมันฯ กู้เงินได้ 3 หมื่นล้านบาท
2. ขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งแล้วแต่นโยบายว่า รัฐบาลจะนำเงินส่วนไหนมาให้
ปัจจุบัน กองทุนน้ำมันฯ มีสถานะติดลบ 7.6 หมื่นล้านบาท และมีเงินไหลเข้า-ออกกองทุน ในแต่ละวันติดลบประมาณ 4-5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสภาพคล่องที่มีอยู่ กับสถานการณ์ราคาน้ำมันในปัจจุบันที่มีความผันผวนอย่างมาก จึงจำเป็นต้องเร่งหาสภาพคล่องมาเพิ่มเติม
"ในส่วนของเงินกู้ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับธนาคาร ยอมรับว่า กองทุนน้ำมันฯ ไม่สามารถกู้เงินโดยตรงได้ เพราะไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล แต่ว่าสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเป็นผู้ดำเนินการแทน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกันกับธนาคาร โดยธนาคารก็ต้องพิจารณาถึงสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย เพราะมีผลกระทบจากทั้งโควิด-19 และสงคราม ล่าสุดมีเรื่องฝีดาษลิงเข้ามาด้วย ล้วนแต่ส่งผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันผันผวนอย่างมาก" นายวิศักดิ์ กล่าว
นายวิศักดิ์ กล่าวว่า ถึงแม้การกู้เงินจะไม่ทันภายในเดือน พ.ค. 2565 และสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ จะหมดไป ก็ยังไม่ส่งผลกระทบต่อกองทุน เพราะกองทุนน้ำมันยังมีอีกช่องทาง คือ การขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ส่วนรัฐบาลจะเอาเงินส่วนไหนมาอุดหนุนก็เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบาย ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่า กองทุนน้ำมันฯ ยังสามารถดูแลราคาน้ำมันได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่เกิดการสะดุด
นอกจากนี้ มติ ครม. ที่ให้มีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร จนถึงสิ้นเดือน เม.ย. และในเดือน พ.ค.-มิ.ย. รัฐบาลจะช่วยอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลครึ่งหนึ่ง โดยกำหนดอัตราเพดานไว้ไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร แม้ตอนนี้รัฐบาลยังอุดหนุนไม่ถึงครึ่งของราคาเพดาน ถือว่า ไม่ผิดมติครม. เพราะกำหนดไว้ชัดเจนว่า มีเวลาดำเนินการจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. ที่จะปรับราคาดีเซลไปที่ 35 บาทต่อลิตร
อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาสถานการณ์ราคาน้ำมัน ณ ขณะนั้นด้วย หากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศก็อาจจะไม่ถึง 35 บาทต่อลิตร ส่วนตั้งแต่เดือน ก.ค. 2565 เป็นต้นไป ตามมติ ครม. ระบุว่า จะไม่มีการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลแล้ว แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบายจะพิจารณาอีกครั้ง