GISTDA ใช้ดาวเทียมเตรียมการรับมือน้ำท่วมขัง พร้อมสำรวจผักตบชวา เร่งจัดทำข้อมูลส่งต่อโยธาธิการ และผังเมือง
(28 พ.ค. 65) GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กโดยระบุว่า พร้อมแล้วสำหรับการเตรียมการรับมือน้ำท่วม ปี 2565 ซึ่งนอกเหนือการวางแผนสั่งถ่ายภาพดาวเทียมระบบเรดาร์แล้ว ยังได้ลงพื้นที่สำรวจพร้อมติดตั้งอุปกรณ์วัดระดับน้ำ เพื่อติดตามระดับ “น้ำท่วมขัง” ในพื้นที่แก้มลิง รวมทั้งการชี้เป้าผักตบชวา และวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำท่วมให้กับหน่วยงานหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือสทนช. เป็นต้น
ด้านดร.สยาม ลววิโรจน์วงค์ โฆษก GISTDA และผู้อำนวยการสำนักประยุกต์ และบริหารภูมิสารสนเทศกล่าวว่า "ทีม GISTDA ได้ลงสำรวจพื้นที่ และตรวจสอบอุปกรณ์วัดระดับน้ำ หรือultrasonic sensor โดยจะติดตั้งในบริเวณลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง โดยเฉพาะในพื้นที่แก้มลิง บริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และใกล้เคียง เพื่อเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ให้สามารถตรวจวัดระดับน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2565 อุปกรณ์ดังกล่าวจะเพิ่มขีดความสามารถในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำแบบ near real-time ทำให้ได้รับข้อมูลที่รวดเร็ว และแม่นยำมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังนำมาใช้ในการสอบเทียบกับความสูงของระดับน้ำที่คำนวณได้จากการใช้เทคนิค SAR Interferometry (InSAR) เพื่อเฝ้าระวังในพื้นที่ที่ประชาชนอาจจะได้รับผลกระทบ รวมทั้งจะทำให้ได้ข้อมูลการประเมินปริมาตรน้ำ และทิศทางการเคลื่อนตัวของมวลน้ำตลอด 24 ชั่วโมง อีกทางหนึ่งก็คือการประเมินศักยภาพของพื้นที่แก้มลิงที่ยังจะพอรับน้ำได้ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงภาวะวิกฤตทำได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สำหรับการสำรวจปริมาณผักตบชวา และวัชพืชตามแม่น้ำ และลำน้ำ โดย GISTDA ได้ติดตาม วิเคราะห์ และชี้เป้าตำแหน่งผักตบชวา และวัชพืชในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางทั้ง 19 จังหวัด และบริเวณลุ่มน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกบางส่วน โดยใช้ดาวเทียมไทยโชต ดาวเทียม Landsat-8 และดาวเทียม SENTINEL-2 ทำการชี้เป้าตำแหน่งผักตบชวา และวัชพืชในแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ร่วมกับการลงพื้นที่สำรวจ พบว่า ยังมีปริมาณผักตบชวากีดขวางทางน้ำเป็นจำนวนมากที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำในช่วงฤดูฝน อย่างไรก็ตาม GISTDA จะเร่งจัดทำข้อมูลและส่งต่อให้กับกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อส่งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ 19 จังหวัด ลุ่มน้ำภาคกลาง รวมถึงพื้นที่ภาคตะวันออกบางส่วน นำไปใช้วางแผน และแก้ไขปัญหาต่อไป" โฆษก GISTDA กล่าว
ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามข้อมูลเหล่านี้ได้บนเว็บไซต์ และระบบผลิตแผนที่กลางแบบออนไลน์