รัฐบาลย้ำความสำเร็จบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์” แก้ปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้ง เพิ่มเก็บกักน้ำอุปโภค บริโภค อย่างเพียงพอทั่วถึงทุกพื้นที่ ส่งผลปี 2564/65 ไม่มีการประกาศภัยแล้ง

 

วันที่ 29 พ.ค. 65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศทั้งระบบ โดยจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง พร้อมทั้งเตรียม “น้ำต้นทุน” สำหรับภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมทั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนน้ำอุปโภคและบริโภค สำหรับประชาชนทุกครัวเรือนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการสำคัญต่าง ๆ ภายใต้แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ และจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ รวมทั้งเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ และโครงการสำคัญ ๆ ควบคู่กับพัฒนาเครื่องมือการบริหารจัดการน้ำ ทั้งผังน้ำ คลังข้อมูลน้ำ ในรูปแบบ One Map ผ่านเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน National Thai Water

ซึ่งขณะนี้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ Kick Off แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ผ่านระบบ Thai Water Plan ชี้แจงการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านน้ำ ปี 67 ให้ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นทั่วประเทศได้เข้าใจตรงกันแล้ว โดยจะเริ่มใช้ระบบจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นปีแรก

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า การดำเนินการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลขณะนี้เกิดผลสำเร็จ และมีความก้าวหน้าในหลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่รัฐบาลขับเคลื่อน และดำเนินการในแต่ละภาค ได้แก่

ภาคเหนือ - อ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พะเยา เริ่มโครงการฯ ปี 2559 จะแล้วเสร็จปี 2568 โดยมีความจุ 91 ล้าน ลบ.ม. สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 25,000 ไร่ ภาคกลาง โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เริ่มโครงการฯ ปี 2560 จะแล้วเสร็จปี 2569 ซึ่งจะช่วยระบายน้ำได้ 1,025 ลบ.ม/วินาที สามารถเพิ่มการเก็บกักน้ำได้ 31 ล้าน ลบ.ม. และบรรเทาพื้นที่น้ำท่วมได้ 4,900 ไร่

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย เริ่มโครงการฯ ปี 2561 จะแล้วเสร็จปี 2569 โดยเป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำ 150 ลบ.ม/วินาที ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตจังหวัดอุดรธานีและหนองคายได้ 54,390 ไร่ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำ 246 ล้าน ลบ.ม./วินาที และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 300,195 ไร่

ภาคตะวันออก - โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ “เขื่อนห้วยโสมง” จ.ปราจีนบุรี เริ่มโครงการฯ ปี 2553 ขณะนี้ได้เปิดใช้งานแล้ว โดยมีความจุ 295 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 111,300 ไร่ ภาคใต้ โครงการบรรเทาอุทกภัยหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จ.สงขลา เริ่มโครงการฯ ปี 2558 จะเปิดใช้งานปี 2565 นี้ โดยเป็นการปรับปรุงคลองเดิม เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำ จากเดิม 456 ลบ.ม/วินาที เป็น 1,200 ลบ.ม./วินาที พร้อมสถานีสูบน้ำ 90 ลบ.ม/วินาที

นอกจากนี้ยังมีโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ บริเวณถนนรัชดาภิเษก ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ม. ยาวประมาณ 6.4 กม. สร้างแล้วเสร็จปี 2563 สามารถระบายน้ำได้ 60 ลบ.ม./วินาที ครอบคลุมพื้นที่ 56 ตารางกิโลเมตร 8 เขต ประกอบด้วยเขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง บางซื่อ และเขตดุสิต

“จากการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบตามนโยบายรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ส่งผลลัพธ์ให้ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน สามารถเพิ่มการกักเก็บน้ำรวม 1,452 ล้าน ลบ.ม. ตลอดจนพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 124 ล้าน ลบ.ม. และลดพื้นที่ประสบภัยแล้งลงอย่างต่อเนื่อง จาก 36,944 หมู่บ้านในปี 2556 และในปี 2564/65 ไม่มีประกาศภัยแล้ง” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว