"รัฐบาล" ออกมาตรการช่วยเหลือด้านราคาพลังงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด “นายกฯ” ย้ำขอความร่วมมือประชาชนใช้พลังงานทุกชนิดอย่างประหยัด เพื่อให้ประเทศสามารถผ่านวิกฤตพลังงานครั้งนี้ไปให้ได้

 

วันที่ 29 พ.ค. 65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ขณะนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกยังมีทิศทางปรับขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายและติดตามการดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานมาโดยตลอด

โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในภาคพลังงานตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงปัจจุบัน และแม้สถานการณ์ด้านราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันยังคงปรับตัวอยู่ในระดับสูง แต่ก็เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนไปพร้อมกับการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศไทยกลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุข้อมูลจากกระทรวงพลังงานว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ทำให้เกิดความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายประเทศในยุโรป สหรัฐฯ และบางประเทศในเอเชีย ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาพลังงานโลกเกือบทุกประเทศสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ส่งผลต่อเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในหลาย ๆ ประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นจาก 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงต้นเดือน ธ.ค. 64 มาเป็น 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในช่วงต้นเดือน มี.ค. และในระดับปัจจุบัน (26 พ.ค. 65) ที่ 114 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปลายปี 2564 กระทรวงพลังงานได้ออกมาตรการช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ต.ค.64 อาทิ การลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การปรับลดสัดส่วนผสมน้ำมันไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล ตลอดจนการขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันลดค่าการตลาด

กระทรวงพลังงานยังรายงานว่า ในส่วนของการตรึงราคาน้ำมันดีเซล เนื่องจากน้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้า การบริการ และการขนส่ง กระทรวงพลังงานได้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตรตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 จนถึง 30 เม.ย. 65 และขึ้นเป็น 32 บาทต่อลิตรตั้งแต่ 1 พ.ค.65 

การตรึงราคาน้ำมันดีเซลนี้ ใช้กลไกเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่ออุดหนุนมาโดยตลอด ปัจจุบันมีการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 5.43 บาท รวมทั้งลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาทตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันโดยใช้เงินกองทุนน้ำมันนั้น ส่งผลให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของกลุ่มน้ำมันมีเงินจ่ายออกวันละ 295 ล้านบาท หรือคิดเป็นจ่ายออกเดือนละประมาณ 9,172 ล้านบาท (ประมาณการข้อมูลเดือน พ.ค. 65) ทำให้ฐานะกองทุนฯ (บัญชีน้ำมัน) ณ 22 พ.ค. 65 ติดลบกว่า 41,000 ล้านบาท

ส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล ถือเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานสะอาด ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดฝุ่นละออง อีกทั้งยังช่วยรักษาเสถียรภาพระดับราคาพืชผลเกษตรกรไม่ให้ตกต่ำ มีรายได้ที่มั่นคง และในด้านพลังงานถือว่าช่วยสนับสนุนการใช้พลังงานที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ ลดพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ แต่ในปัจจุบันราคาไบโอดีเซลมีราคาค่อนข้างสูง กระทรวงพลังงานจึงได้ออกมาตรการปรับลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล โดยได้มีการปรับลดมาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดต้นทุนน้ำมันดีเซล ซึ่งในปัจจุบัน ได้มีการปรับลดส่วนผสมไบโอดีเซลเป็น B5 เป็นการชั่วคราวในช่วงที่ B100 มีราคาสูง มีผล 5 ก.พ. ถึง 30 มิ.ย. 65

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังได้ดำเนินโครงการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ (โครงการวินเซฟ) โดยสนับสนุนวงเงินเพื่อร่วมจ่ายค่าน้ำมันแก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ จำนวนร้อยละ 50 ของค่าน้ำมัน (คนละครึ่ง) แต่ไม่เกิน 50 บาทต่อคนต่อวัน และไม่เกิน 250 บาทต่อคนต่อเดือน มีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว 39,990 ราย และมีสถานีบริการน้ำมันยืนยันเข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชัน 1,687 แห่ง (ข้อมูลณ วันที่ 23 พ.ค.65)

ส่วนที่มีการเผยแพร่ข่าวว่า ราคาน้ำมันในประเทศไทยมีราคาสูงที่สุดในอาเซียนนั้น ความจริงแล้ว เมื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าราคาน้ำมันของไทยไม่ได้แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ราคาน้ำมันของประเทศไทยอยู่ในระดับกลางค่อนไปข้างต่ำ

โดยราคาน้ำมันเฉลี่ยในอาเซียน (ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2565) น้ำมันเบนซิน สิงคโปร์ อยู่ที่ 81.11 บาท/ลิตร ลาว อยู่ที่ 61.68 บาท/ลิตร ฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 48.42 บาท/ลิตร กัมพูชา อยู่ที่ 47.90 บาท/ลิตร เวียดนาม อยู่ที่ 44.58 บาท/ลิตร ไทย อยู่ที่ 42.95 บาท/ลิตร

ขณะที่น้ำมันดีเซล สิงคโปร์ อยู่ที่ 75.62 บาท/ลิตร ฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 48.32 บาท/ลิตร ลาว อยู่ที่ 47.13 บาท/ลิตร กัมพูชา อยู่ที่ 46.63 บาท/ลิตร อินโดนีเซีย อยู่ที่ 43.89 บาท/ลิตร เมียนมา อยู่ที่ 42.16 บาท/ลิตร เวียดนาม อยู่ที่ 39.63 บาท/ลิตร ไทย อยู่ที่ 31.94 บาท/ลิตร

“ยืนยันว่าที่ผ่านมา รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานได้ออกมาตรการช่วยเหลือด้านราคาพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง และจะยังคงดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ ประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด และในช่วงสถานการณ์ราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง นายกรัฐมนตรีได้ย้ำขอความร่วมมือจากประชาชนใช้พลังงานทุกชนิดอย่างประหยัด เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผ่านวิกฤตพลังงานในครั้งนี้ไปให้ได้ โดยรัฐบาลจะเดินหน้าช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว