สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เน้นย้ำประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ทำความรู้จักโรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) โรคประจำถิ่นที่อันตรายถึงชีวิต แนะเลี่ยงสัมผัสดินและน้ำ เมื่อมีบาดแผล ไม่เดินเท้าเปล่า ใส่บูทยาวเมื่อต้องลุยน้ำ และดื่มน้ำจากแหล่งที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก หากมีอาการไข้ร่วมกับประวัติสัมผัสดินหรือแหล่งน้ำธรรมชาติโดยไม่ป้องกัน ให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติเสี่ยง
โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เบอร์โคเดอเรีย สูโดมัลลิอาย (Burkholderia pseudomallei) ซึ่งพบได้ทั่วไปในดินและน้ำ นาข้าว ท้องไร่ แปลงผัก สวนยาง ทั่วทุกภาคในประเทศไทย พบรายงานผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน (ต.ค.-ธ.ค.) ถือเป็นโรคประจำถิ่นที่พบผู้ป่วยประปรายได้ตลอดปี โดยผู้ป่วยมักรับเชื้อที่อยู่ในดินและน้ำ สามารถติดต่อได้ 3 ทาง คือ
1.ผ่านทางบาดแผลบนผิวหนัง
2.หายใจเอาฝุ่นจากดินหรือน้ำที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป
3.ดื่มหรือกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป
โดยระยะฟักตัวของเชื้อ คือ 1-21 วัน บางรายอาจนานเป็นปี ผู้ติดเชื้อจะมีอาการหลากหลายจนถึงไม่มีอาการ ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ทั้งแบบเฉียบพลัน หรือ ไข้เรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ มีเนื้อตาย แผล ฝี หนองที่ปอด ตับ ม้าม แผลอักเสบเรื้อรัง ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ส่วนใหญ่ คือ ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องสัมผัสดินและน้ำโดยตรง เช่น เกษตรกรและประมง โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โรคเบาหวาน หรือโรคติดสุราเรื้อรังมีความเสี่ยงต่อโรครุนแรงสูงขึ้น
สำหรับสถานการณ์โรคเมลิออยโดสิส ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง จากระบบรายงาน 506 กองระบาดวิทยา ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 65 ถึง 5 พ.ค. 65 พบผู้ป่วยโรคนี้ทั้งสิ้น 11 ราย เสียชีวิต 2 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 18.2 จำนวนผู้ป่วยสูงสุดในจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลา จังหวัดละ 5 ราย, และนราธิวาส 1 ราย เป็นเพศชาย 8 ราย เพศหญิง 3 ราย อายุระหว่าง 40-70 ปี (มัธยฐานอายุ 52 ปี) อาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ อาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 36.4 รองลงมาคือ อาชีพงานบ้าน และอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 18.2 ส่วนผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย อาศัยอยู่ในจังหวัดสงขลา ผลการสอบสวนโรคพบปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อเมลิออยโดสิส คือเป็นผู้ป่วยเบาหวานและมีประวัติสัมผัสดินโดยตรงจากการทำสวน เดินเท้าเปล่า และปลูกต้นไม้โดยไม่ได้สวมอุปกรณ์ป้องกันอย่างเหมาะสม
จากการสำรวจข้อมูลความรู้และพฤติกรรมของประชาชนเรื่องโรคเมลิออยโดสิส ในพื้นที่ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เมื่อเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2564 จำนวน 277 คน พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม
ร้อยละ 71.48 ไม่เคยได้ยินชื่อโรคเมลิออยโดสิส
ร้อยละ 42.24 ไม่ทราบว่าโรคเมลิออยโดสิส ทำให้เสียชีวิตได้
ร้อยละ 74.37 ทราบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวาน เมื่อป่วยจะมีอาการรุนแรงกว่าคนปกติ
ส่วนพฤติกรรมในการป้องกันโรค พบว่า ส่วนใหญ่ขณะทำงานหรือมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับดิน ไม่สวมถุงมือ ร้อยละ 45.12 ไม่สวมรองเท้าบูท ร้อยละ 55.23 และไม่ใช้ผ้าปิดจมูก ร้อยละ 61.01
ดังนั้น ควรเน้นย้ำให้ประชาชนสวมถุงมือ ใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ทุกครั้งเมื่อทำงานหรือมีกิจกรรมที่สัมผัสดินหรือโคลน สวมรองเท้าบูท ทุกครั้งที่แช่น้ำ ลุยน้ำ ย่ำโคลน เพื่อป้องกันการเกิดโรคเมลิออยโดสิส อีกทั้ง ควรมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านคลินิกโรคเรื้อรัง และสื่อสารในกลุ่มเกษตรกรผ่านช่องทางของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในพื้นที่
สคร.12 สงขลา ขอแนะนำวิธีการป้องกันโรคเมลิออยโดสิส ได้แก่
1.ผู้ที่มีบาดแผลให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นขอให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาวหรือชุดลุยน้ำและรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่
2.หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรรีบทำความสะอาดบาดแผล และหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท
3.ทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำต้มสุก 4.หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมฝุ่น และการอยู่ท่ามกลางสายฝน
หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422