"พิธา" ย้ำไม่รับร่าง พรบ. งบปี 66 กางโครงสร้างงบย้อนหลัง 8 ปี พบงบ 3 ใน 4 ส่วน เป็นงบ "ช้างอุ้ยอ้าย" ปรับตัวไม่ได้ ประเทศไม่เดินหน้า เสมือนยาขมที่ต้องกลืน พร้อมยกงบเบี้ยหวัด บำนาญ ของข้าราชการสูงเท่างบกระทรวงศึกษาธิการที่ดูแลเด็กทั้งประเทศ

 

วันที่ 31 พ.ค.65 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและสส.พรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พรบ. งบประมาณฯ พ.ศ. 2566 ชี้แจงเหตุผลที่ไม่อาจรับหลักการร่าง พรบ. งบประมาณฯ พ.ศ. 2566 ได้ โดยย้ำว่า การจัดทำงบประมาณครั้งนี้ถือเป็นปีแห่งการฟื้นฟูประเทศ นับเป็นปีแห่งความหวัง แสงสว่างปลายอุโมงค์ของประชาชน หลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 ขณะเดียวกันปีหน้าก็จะในการเลือกตั้งใหญ่ ในจังหวะที่ประเทศกำลังมีความหวังเหมือนกับสำนวนที่ว่า "น้ำขึ้นก็ต้องรีบตัก"

แต่หากกระบวยตักน้ำ ซึ่งหมายถึงการลงทุนเล็กก็ไม่สามารถที่จะตักน้ำได้ โดยย้ำว่า ปีงบประมาณนี้เป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะต้องลงทุน ร่างกฎหมายงบประมาณเสมือนเป็น สส. ตาบอดคลำช้าง แต่มีการใช้เทคโนโลยีในการจัดเรียงงบประมาณซึ่งมีการจัดงบกว่า 9 หมื่นรายการ

โดยเน้นไปที่การอภิปรายโครงสร้างงบประมาณของประเทศในการใช้ภาษีของประชาชนซึ่งเรียกว่า "ช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้" เนื่องจากรายได้ผันผวน ส่งผลต่อการกู้ที่หลุดกรอบ จากรายได้ที่ประมาณการจัดเก็บ 2,490,000 ล้านบาท ในขณะที่มีรายจ่าย 3,185,000 ล้านบาท ทำให้จะต้องกู้ 695,000 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ การอภิปรายถึงงบเบี้ยบำเหน็จ บำนาญของข้าราชการ มูลค่ากว่า 322,790 ล้านบาทซึ่งเป็นวงเงินที่สูงเท่ากับงบของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งกระทรวงที่ดูแลเด็กทั้งประเทศ ชี้นี่คือปัญหาช้างป่วยที่ดูแลไม่ได้

พร้อมหยิบยกโครงสร้างงบประมาณไทยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาซึ่ง 3 ใน 4 ส่วนของงบประมาณทั้งหมดเป็นรายจ่ายประจำ แม้จะเกิดวิกฤตใด ๆ การจัดงบประมาณก็ไม่ได้ตอบสนองต่อวิกฤตหรือโอกาสในปีต่อไป ขณะที่โครงสร้างรายจ่ายได้ยกเรื่องของเงินบำนาญข้าราชการเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา นับแต่ปี 2557 สะท้อนเป็นโครงสร้างงบประมาณที่น่ากลัว เป็นยาขมที่ทุกคนต้องกลืน