"รมช.กลาโหม" แจงสภา​ฯ ย้ำเหตุผลของบจัดซื้อเครื่องบินสกัดกั้นการโจมตี เพราะของเก่าใช้กว่า 28 ปี ต้องปลดระวาง เผยปี 66 ของบ 738ล้านบาท ภาพรวมต้องใช้ 7,382ล้านบาท

พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 วาระแรก วันแรก ต่อการจัดสรรงบประมาณให้กับกองทัพอากาศ เพื่อจัดซื้อเครื่องบินขับไล่สกัดกั้นการโจมตี ว่า เครื่องบินสกัดกั้นการโจมตีของกองทัพอากาศปัจจุบัน พบว่าบางเครื่องมีอายุการใช้งาน 41 ปี และเฉลี่ยปฏิบัติภารกิจแล้ว 28 ปี ดังนั้นต้องทยอยปลดประจำการ เนื่องจากไม่สามารถหาชิ้นส่วน อะหลัยซ่อมบำรุงได้ หรือซ่อมบำรุงไม่คุ้มค่า ซึ่งระยะเวลาการปลดประจำการ จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 - 2574 และเมื่อเครื่องบินปลดประจำการ จะทำให้มีเครื่องบินไม่เพียงพอปฏิบัติภารกิจ เสี่ยงต่อการปกป้องประเทศ ต้องหามาทดแทน

"เครื่องบินสกัดกั้นโจมตี ต้องมีการดำเนินการใช้เวลา ถึง 3 ปี จะได้เครื่องบิน จากนั้นต้องฝึกนักบิน อีก 1 ปี เพื่อให้มีสภาความพร้อม ดังนั้นกองทัพอากาศ วางแผนการจัดหาตามกรอบงบประมาณ เป็นระยะๆ ที่บอกว่าใช้งบ 1.3 หมื่นล้านบาท ข้อเท็จจริงแล้วภาพรวมใช้ 7,382 ล้านบาท โดยปีงบประมาณ 2566 จะใช้ 738 ล้านบาท" พล.อ.ชัยชาญ ชี้แจง

พล.อ.ชัยชาญ ชี้แจงด้วยว่า เมื่อเครื่องบินที่มีอายุการใช้งานมาก ประสิทธิภาพลดลง แต่สำคัญคือความปลอดภัยของนักบิน กว่าจะฝึกและปฏิบัติการยุทธวิธีได้ เพื่อให้มีขีดความสามารถ กองทัพอากาศต้องวางแผนดำเนินการตามกรอบงบประมาณและจัดทำเป็นระยะ สอดคล้องกับจำนวนที่ปลดประจำการเพื่อดำรงขีดความสามารถในการปกป้องน่านฟ้าของประเทศ