เผยผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 4 จังหวัด "นครชัยบุรินทร์" พุ่ง 37 คน เสียชีวิต 7 คน ในรอบ 5 เดือน ส่วนใหญ่พบในโคราช สสจ. เตือนกินอาหารปรุงสุก อย่าบริโภคหมูดิบ
วันนี้ (6 มิ.ย. 65) กลุ่มระบาดวิทยาและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา รายงานสถานการณ์โรคไข้หูดับเขตสุขภาพที่ 9 ช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-14 พ.ค. 2565 ว่า 4 จังหวัด "นครชัยบุรินทร์" ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ,ชัยภูมิ, บุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วยโรคไข้หูดับ รวม 37 ราย เสียชีวิต 7 ราย เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดนครราชสีมา พบผู้ป่วยมากสุด 35 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 7 คน ในขณะที่จังหวัดชัยภูมิ พบผู้ป่วย 1 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต ,จังหวัดสุรินทร์ พบผู้ป่วย 1 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต และจังหวัดบุรีรัมย์ ไม่พบผู้ป่วยและไม่มีผู้เสียชีวิต
นพ.นิรนทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การทานเมนูดิบ เสี่ยงให้เกิดโรคอันตรายร้ายแรง คือ โรคไข้หูดับ เกิดจากการทานเนื้อหมูสุก ๆ ดิบ ๆ เป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในเนื้อเยื่อของหมู ทำให้เกิดอาการสมองฝ่อและเป็นอันตรายทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งใน จ.นครราชสีมา ยังพบอยู่ประปรายในหลายพื้นที่ จึงขอเน้นย้ำไปยังพี่น้องประชาชนว่า ขอให้ซื้อหมูที่มีแหล่งที่มาที่ไปชัดเจน ซื้อจากตลาดหรือห้างสรรพสินค้าที่เชื่อถือได้และขอให้ปรุงสุก ส่วนการรับประทานหมูกระทะ ปิ้งย่าง ก็ขอให้ทำให้สุกก่อนจึงค่อยทาน เพราะหากกินดิบจะทำให้เสี่ยงเกิดการติดเชื้อทางเดินอาหาร หรือมีอาการท้องเสียรุนแรงเฉียบพลัน จนทำให้ช็อคเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังเสี่ยงทำให้เกิดพยาธิตัวตืด
ปัจจุบัน ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ได้เร่งทำความเข้าใจประชาชน อย่ารับประทานอาหาร หรือเนื้อสัตว์ทุกชนิดแบบดิบ ๆ โดยเริ่มประชาสัมพันธ์ตั้งแต่ระดับโรงเรียน ด้วยการให้ครูที่สอนสุขศึกษา ถ่ายทอดความรู้และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องให้กับเด็กนักเรียน ส่วนในหมู่บ้านหรือชุมชน จะมีเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ผู้นำชุมชนและ อสม. ช่วยกระจายความรู้และแนวทางปฏิบัติให้กับประชาชน เนื่องจากปัจจุบันยังคงมีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หูดับอยู่ และพบผู้เสียชีวิตจากโรคนี้อยู่ประปราย จึงอยากให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้ตระหนักและให้ความสำคัญ รู้จักป้องกันตัวเอง ทั้งการรับประทานอาหารปรุงสุก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาด และถ้าปลูกฝังเด็ก ๆ ให้มีความรู้เรื่องดูแลตนเองให้ปลอดโรคตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ก็จะติดเป็นนิสัย สามารถป้องกันตนเองให้ปลอดโรคได้ทุกช่วงวัย ช่วยลดอัตราเสี่ยงการเกิดโรคได้นั่นเอง