“ชัชชาติ” ประชุมผู้บริหาร กทม. นัดแรก ยืนยันไม่กังวลการใช้งบประมาณปี 65 ให้การบ้านทุกสำนักงานเขตสำรวจจุดอ่อนเอื้อทุจริต พร้อมกลับมารายงานภายในหนึ่งสัปดาห์
วันที่ 6 มิ.ย.65 นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สวมชุดข้าราชการเข้าประชุมคณะผู้บริหาร กทม. ครั้งที่ 7/2565 ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม. (ดินแดง) ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกภายใต้การนำของผู้ว่าฯชัชชาติ
โดยนายชัชชาติ ระบุว่า วันนี้ (6 มิ.ย.65) มีการหารือกันใน 4 เรื่องหลัก คือสถานการณ์โควิด-19 และการถอดหน้ากากอนามัย หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง ซึ่งการตัดสินใจต้องรอ ศบค. เป็นหลัก รวมถึงการหารือเรื่องฝีดาษลิง เนื่องจากเมื่อวานที่มีการจัดกิจกรรมไพรด์พาเหรดที่มีคนมารวมตัวกันจำนวนมาก ทำให้เกิดความกังวล แต่วันนี้ก็ยังไม่มีตัวเลขรายงานในประเทศไทย และการติดต่อก็คนละรูปแบบกับโควิด-19 แต่ได้ให้ดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นต่อไป ส่วนข้อกังวลเรื่องกิจกรรมในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ผ่านมา ได้ให้ นางทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ดูตัวเลขอย่างต่อเนื่อง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทุกคนป้องกันตนเอง และระมัดระวังเป็นอย่างดี
ส่วนกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความห่วงใยเรื่องการจัดกิจกรรมของ กทม. ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา อาจเกิดคลัสเตอร์ได้ นายชัชชาติ บอกว่า ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่แสดงความเป็นห่วง ทั้งนี้ก็คงต้องติดตามสถานการณ์ และต้องเก็บข้อมูลต่อเนื่อง โดยมองว่าเป็นก้าวที่ค่อยๆ เข้าสู่ชีวิตปกติ และทุกคนที่มาก็ใส่หน้ากาก มีมาตรการ และพร้อมรับข้อเป็นห่วงของทุกฝ่ายเพื่อนำมาติดตามสถานการณ์
ส่วนเรื่องที่สอง เป็นเรื่องงบประมาณ โดยงบประมาณประจำปี 2566 จะต้องรีบทำให้เสร็จภายในสัปดาห์หน้าเพื่อส่งเข้าสภาฯ พิจารณา ซึ่งบางส่วนได้จัดทำไว้เรียบร้อยแล้ว จากนี้เป็นขั้นตอนของการปรับให้เข้ากับยุทธศาสตร์ และมีการพิจารณาถึงงบประมาณปี 2565 ที่เหลืออยู่ด้วย
เรื่องที่สาม คือของยุทธศาสตร์ ที่จากนี้ต้องมีการประเมินว่าแผนที่นำเสนอไปทั้ง 214 แผนจะสามารถปฏิบัติเลยได้หรือไม่ ซึ่งสำนักยุทธศาสตร์ได้วิเคราะห์แล้วแผนทาง 214 ข้อ ค่อนข้างสอดคล้องกับนโยบายเดิมที่กรุงเทพมหานครมีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องลงรายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยในส่วนที่มีงบประมาณอยู่แล้ว สามารถดึงมาใช้ได้เลย เพราะมีข้อมูลว่าหลายโครงการมีความสอดคล้องกัน ส่วนโครงการไหนที่ไม่ได้เตรียมงบประมาณไว้ก็อาจต้องนำไปใส่ในงบประมาณปี 2566 เช่น ปัจจุบันนี้มีนโยบายเรื่อง zero based budgeting หรือการทำงบประมาณจากศูนย์ ซึ่งเป็นการศึกษาประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งการประชุมวันนี้ได้เชิญอาจารย์วิลาสินี วงศ์แก้ว จากคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาถ่ายทอดความรู้เพื่อให้คณะผู้บริหารมีความเข้าใจตรงกัน สัปดาห์นี้จึงมุ่งเน้นไปที่เรื่องการจัดการงบประมาณเป็นหลัก
เรื่องสุดท้าย เป็นการหารือเรื่องการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งมีนโยบายที่จะทำจุดบำบัดน้ำเสียในชุมชนให้มากขึ้น เพราะจากการลงพื้นที่ พบว่าหลายชุมชนมีการเทน้ำเสียลงในแม่น้ำลำคลอง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำเสีย และเน้นการสร้างโครงการแบบเส้นเลือดฝอยมากขึ้น เพราะการสร้างบ่อบำบัดขนาดใหญ่ อาจต้องใช้เวลามากถึง 11 ปี เบื้องต้นกระจายให้แต่ละเขตไปทำแผนว่าจะสามารถทำบ่อบำบัดน้ำเสียในจุดใดได้บ้าง
ส่วนอีกประเด็นที่มีการพูดคุยกันในที่ประชุม คือ เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยให้การบ้านผู้บริหารแต่ละเขตทุกสำนักไปสำรวจ ว่า หน่วยงานของตัวเองมีจุดอ่อน หรือช่องโหว่ตรงไหนที่ทำให้เกิดการทุจริตได้บ้าง และให้กลับมานั่งคุยกันในสัปดาห์ต่อไป เพื่อปรับการทำงานให้เข้ากับแนวคิดขององค์การต่อต้านคอร์รัปชัน