ก. สาธารณสุข ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ทบทวนแผนงานวัณโรคแห่งชาติ และสรุปผลการทบทวนแผนงานวัณโรคแห่งชาติโดยผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก และองค์กรนานาชาติ พร้อมมุ่งเป้าดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ Global End TB Strategy ลดอัตราป่วยวัณโรคเหลือ 10 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2578

 

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.65 นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข Dr. Pierre-Yves Norval หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรนานาชาติร่วมการแถลงข่าว “สรุปผลการทบทวนแผนงานวัณโรคแห่งชาติ ครั้งที่ 6”

ด้านนายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่คณะผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก และองค์กรนานาชาติร่วมกัน ทบทวนแผนงานวัณโรคซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 โดยที่วัณโรคยังเป็นโรคที่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลก และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชากรโลกราว 1.5 ล้านคนต่อปี ในปี 2564 องค์การอนามัยโลกประกาศให้ประเทศไทยพ้นจาก 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคดื้อยาสูงของโลก แต่ยังคงเป็นหนึ่งในสามสิบประเทศที่ยังมีอัตราป่วยวัณโรคสูงอยู่ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจำเป็นต้องระดมทรัพยากรจำนวนมาก แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ยังคงให้ความสำคัญกับการเร่งรัดควบคุมป้องกัน วัณโรค โดยเฉพาะวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) โดยกำหนดมาตรการและตัวชี้วัด เช่น เร่งรัดค้นหาผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง สนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงพร้อมที่สรรหาแหล่งเงินทุนและจัดสรรสนับสนุนงบประมาณในการควบคุมป้องกันวัณโรค เพื่อ “ยุติการแพร่ระบาด” ให้ได้ตามเป้าหมาย

ทั้งนี้นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขยังกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค (End TB Strategy) ในระดับนานาชาติ โดยมุ่งเป้าลดอัตราป่วยวัณโรคเหลือ 10 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2578 และยึดหลัก 5 ยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญ ได้แก่

1) เร่งรัดการค้นหาและวินิจฉัยผู้ติดเชื้อวัณโรคและผู้ป่วยวัณโรค

2) ลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยวัณโรค

3) พัฒนาศักยภาพของบุคลากร

4) สร้างกลไกการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์อย่างยั่งยืน

5) ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านวัณโรค

โดยแพทย์หญิงผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการกองวัณโรคกล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานตามแผนงานวัณโรคแห่งชาติของประเทศไทยยังคงต้องมีการพัฒนา เพิ่มศักยภาพ และแก้ปัญหาความท้าทาย ทั้งนี้ข้อเสนอแนะจากการทบทวน ครั้งนี้ กรมควบคุมโรค จะนำไปพัฒนา เพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบายในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับแผนงานวัณโรคแห่งชาติ (National TB program) การส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลและชุมชน โดยมีผู้ป่วยวัณโรคเป็นศูนย์กลางการใช้เทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยที่ทันสมัย และการพัฒนาบุคคลากร เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดและมีโอกาสเข้าถึงระบบบริการ เพื่อลดปัญหาวัณโรค และบรรลุเป้าหมายการยุติวัณโรคของประเทศที่ตั้งไว้ TB-Free Thailand For TB-Free World “เมืองไทยปลอดวัณโรค เพื่อโลกปลอดวัณโรค” ต่อไป