"โฆษก อสส." ชี้คดี "อดีต ผกก.โจ้" ต้องถึงศาลอุทธรณ์เเน่ ส่วนอัยการจะยื่นอุทธรณ์โทษอีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอธิบดีอัยการศาลสูงพิจารณา
เมื่อวันที่9 มิถุนายน 65 นายอิทธิพร แก้วทิพย์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นภายหลังศาลมีคำพิพากษาคดี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือผกก.โจ้ อดีตผกก. สภ.เมืองนครสวรค์ กับพวก ฆ่าทารุณผู้เสียหาย ว่า กรณีมีคนสงสัยว่า ศาลลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต พ.ต.อ.ธิติสรรค์ กับพวก6 คน ตลอดชีวิต เเละจำเลยที่ 6 โดนโทษจำคุก 5 ปี 4 เดือน อัยการจะยื่นอุทธรณ์อีกหรือไม่ ซึ่งอธิบดีอัยการคดีศาลสูงจะเป็นผู้พิจารณา เพราะถึงแม้ศาลจะจำคุกตลอดชีวิต เเต่อัยการจะอุทธรณ์หรือไม่อุทธรณ์ก็ได้ ขอยกตัวอย่างเช่น หากศาลลดโทษลงมาแล้ว โทษน้อยเกินไป อัยการก็อุทธรณ์ให้ลงโทษหนักขึ้น ส่วนคดีนี้เข้าใจเบื้องต้นว่าศาลลงโทษทุกข้อหา และประหารชีวิตเต็มตามฟ้องของอัยการแล้ว ส่วนที่ศาลลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต เพราะปรากฏว่ามีเหตุลดโทษกับจำเลย ก็ได้บรรเทาผลร้ายแล้ว อันนี้ก็เป็นดุลยพินิจของศาลแล้ว
อย่างไรก็ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา245 วรรคสอง บัญญัติว่า ในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษประหาร หรือจำคุกตลอดชีวิต และจำเลยไม่มีการอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นต้องส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ และคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด เว้นแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ก็คือว่า คดีที่ศาลระวางโทษสูงถึงประหารจำคุกตลอดชีวิต บางทีจำเลยไม่ยอมยื่นอุทธรณ์ก็มี กฎหมายต้องการให้มีการกรองอีกครั้ง โดยศาลสูงถ้าศาลอุทธรณ์ยังเห็นด้วยกับศาลชั้นต้น คดีก็ถึงที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการที่บิดามารดาผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วม มีคำขอส่วนแพ่ง (ฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องอาญา)เข้ามาแต่ศาลไม่ให้ เพราะเป็นกรณีตำรวจทำละเมิดในการปฎิบัติหน้าที่ ต้องไปใช้ช่องทางตามพรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ มาตรา5 นั้น อัยการมีหน้าที่ต้องแก้ต่าง ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่
นายอิทธิพร กล่าวว่า แม้เป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการจะต้องแก้ต่างให้หน่วยงานของรัฐ ในกรณีถูกฟ้องเพราะเจ้าหน้าที่ในสังกัด ไปทำละเมิด เพราะเจ้าหน้าที่อ้างว่าทำไปตามหน้าที่ ผู้เสียหายจะฟ้องเจ้าหน้าที่โดยตรงไม่ได้นั้น แต่มีประเด็นต้องพิจารณาว่า
1.ที่อ้างว่า เจ้าหน้าที่ทำไปตามหน้าที่นั้นมันจริงหรือไม่ ไม่ใช่ว่าอัยการจะรับให้ทุกเรื่อง ดังนั้น อัยการอาจจะไม่รับแก้ต่างให้ก็ได้ เป็นดุลยพินิจอัยการ
2.หากเป็นการทำละเมิด เนื่องในการปฎิบัติหน้าที่จริง แต่ฝ่ายผู้เสียหายตั้งฟ้องทุนทรัพย์สูงจนเกินไปเช่นบางคดี 50 ล้านบาทก็มี ทั้งที่ความจริงเสียหายไม่ถึง 5 แสนบาท อัยการก็ต้องพิสูจน์ในศาล ว่า ค่าเสียหายไม่ถูกต้อง