ผลสอบ GT200 กมธ.ติดตามงบนัดแรก มีความเห็นไม่จำเป็นต้องผ่าต่อ เชื่อสามารถนำผลตรวจรอบแรก 320 เครื่อง มาอนุมานว่า "ไม่มีประสิทธิภาพทั้งหมด"
นายไชยา พรหมา ประธานกรรมาธิการการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตาม ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณจ้างตรวจเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธและวัถตุระเบิด (GT200) ของกองทัพบก ว่า วันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อมาชี้แจง เช่น ผู้แทนจากกองทัพบก อัยการสูงสุด ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มาชี้แจง
โดยกองทัพบก ให้เหตุผลว่า เรื่องดังกล่าวดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองกลาง ที่มีคำสั่งให้ตรวจสอบเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการดำเนินคดี โดยในคำสั่งศาลให้ส่งเครื่อง 757 เครื่องไปให้กับ สวทช. เป็นผู้ตรวจสอบทั้งหมด
ซึ่งทางกรรมาธิการได้สอบว่า เหตุใดจึงต้องตรวจทั้งหมด ทั้งที่ สวทช. ได้ส่งผลตรวจ GT200 ครั้งแรกในปี 2564 จำนวน 320 เครื่อง ว่าไม่มีประสิทธิภาพ คือใช้ไม่ได้จริงไปยังกองทัพบกแล้ว โดยกรรมาธิการมองว่าผลตรวจครั้งนี้สามารถอนุมานได้ว่า "ใช้ไม่ได้" ทั้งหมด
แต่สำนักงานอัยการสูงสุด ยืนยันกับกรรมาธิการ ว่า จำเป็นต้องตรวจต่อทั้งหมด เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดยังไม่มีคำพิพากษา เพราะยังมีส่วนของบุคลและผู้ค้ำประกัน และทางกองทัพบกก็ยืนยันว่า ในส่วนของเครื่องที่เหลือในปี 2565 ได้ยกเลิกสัญญาการตรวจ และขณะนี้กองทัพบก ได้ทำหนังสือไปยังอัยการสูงสุดเพื่อถามเป็นลายลักษณ์อักษรว่าต้องตรวจซ้ำหรือไม่ แต่กรรมาธิการให้ความเห็น ว่า ไม่จำเป็นต้องตรวจซ้ำแล้ว เพราะสามารถใช้ผลตรวจปี 2564 มาอนุมานได้
ขณะที่นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส. พรรคก้าวไกล ที่เปิดประเด็นและอภิปรายในสภาฯ บอกว่าวันนี้ถือเป็นชัยชนะของสภาฯ ที่ได้มาฟังข้อมูลการชี้แจงจากกองทัพบกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการชี้แจงก่อนหน้านี้ไม่ตรงกับข้อมูลในวันนี้เลย จึงตั้งข้อสังเกตว่า อัยการสูงสุดมีการขอให้ตรวจเครื่องทั้งหมด 757 เครื่องจริง และการที่ถอนอุทธรณ์ของจำเลย อัยการสูงสุดได้แจ้งผลไปกับกองทัพบกแล้ว แต่ยังไม่ระงับยับยั้ง ตรวจส่วนที่เหลือ ซึ่งเมื่อถามทางอัยการสูงสุดแจ้งกับกรรมาธิการว่า เป็นการแจ้งอย่างไม่เป็นทางการ ไม่มีลายลักษณ์อักษร และ สวทช. ไม่ได้มีการแนะนำกองทัพเพื่อให้ประหยัดงบในการตรวจเลย